วันที่ 15 พ.ค.2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจงการใช้งบประมาณในการก่อสร้าง ตึก สตง.ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง. นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มาชี้แจงด้วยตนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการเริ่มสอบถามถึง ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างและความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการ ซึ่ง ผู้ว่า สตง.ชี้แจง ชี้แจงว่า สตง.ได้ส่งเอกสารสำคัญไปให้ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่รัฐบาลตั้งขึ้นและดีเอสไอแล้ว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บแล้วด้วย พร้อมประสานบริษัทประกันทั้ง 4 บริษัท มาพูดคุย เพราะผู้รับจ้างได้ทำประกันความเสียหายไว้ หากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิสูจน์สาเหตุของความเสียหายได้แล้ว บริษัทประกันควรเป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้เสียหาย เพราะรัฐจ่ายเงินในส่วนนี้ไปกว่า 900 ล้านบาท และเรายืนยันว่า “เราเป็นผู้เสียหาย จึงควรคืนเงินจำนวนนี้มา เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่รัฐได้จ่ายไปทั้งหมด” ส่วนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ผู้ว่า สตง ชี้แจง ว่า ได้ประสานไปยังผู้รับจ้าง ให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างการรื้อถอน
ส่วนข้อกฎหมายที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้ ไม่ว่า จะเป็นข้อกฎหมายตามสัญญา หรือข้อกฎหมายอื่นๆ เราจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งส่งหนังสือไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งตอนนี้รอตอบกลับมา
สำหรับการส่งมอบพื้นที่นั้น ผู้ว่า สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งตำรวจ ให้อายัดพื้นที่ไว้ก่อน จนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ ซึ่งทางตำรวจจะเข้ามาอายัดพื้นที่ หลังจากที่ กทม. ส่งมอบพื้นที่อย่างเป็นทางการแล้ว และตนเองได้เซ็นหนังสือไปยังผู้รับจ้าง ให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ทั้งหมดด้วย พร้อมกันนี้ ผู้ว่า สตง. ยังยืนยัน ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการสร้างตึกใหม่ เพราะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียชีวิต และการสอบสวนหาสาเหตุของตึกถล่มก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ประธานกรรมาธิการ ได้สอบถามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่า ภายใน 90 วัน จะตอบอะไรได้บ้าง โดยนายพงษ์นรา กล่าวชี้แจง ว่า จะได้คำตอบ ตึก สตง.ที่ถล่มเกิดความผิดพลาดตรงไหน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ 6 สถาบันรวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองรวมเป็น 7 หน่วยงาน ทำแบบโมเดลอาคารถล่ม หลังจากได้แบบแต่ละสถาบันมาแล้วจะนำมาวิเคราะห์ แบบจำลองทางภูมิศาสตร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งขนาดของแรงแผ่นดินไหว ที่จะนำไปใช้กับ แบบจำลองคณิตศาสตร์ จะใช้ขนาดของแรงสั่นสะเทือนที่ตึกกรมโยธาธิการและผังเมืองบนถนนพระราม 6 เป็นค่าตั้ง มาเป็นข้อมูลในการสร้างแบบโมเดล ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้คำตอบว่าสาเหตุการพังถล่มเกิดจากการออกแบบที่ไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่
โดยทางอธิบดีกรมโยธา ยังกล่าวถึงการเก็บตัวอย่างวัสดุการก่อสร้างจากตึก สตง.ที่พังถล่ม โดยการเก็บ เหล็กเส้น ซึ่งตามหลักแล้วไม่สามารถเก็บจากเหล็กที่โผล่มาจากปูนได้ เนื่องจากไปแปรสภาพไปแล้ว ซึ่งจะต้องเก็บเหล็กที่อยู่ในโครงสร้างและต้องกระเทาะเนื้อ คอนกรีตออกมา โดยขณะนี้ได้เก็บตัวอย่างออกมาได้แล้ว โดยในช่วงของการเก็บตัวอย่างมีการกำหนดโซน โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด4โซน โดยแต่ละครั้งที่เข้าไปเก็บตัวอย่างนั้นได้เดินเข้าไปพร้อมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอพร้อมตำรวจพิสูจน์หลักฐานและเจ้าหน้าที่ สตง. โดยกรมโยธาธิการ ทำหน้าที่ในการกำหนดโซน และการเข้าไปเก็บ ก็พบอุปสรรคว่าตัวอาคาร นั้นถล่ม 100% ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ว่าสิ่งก่อสร้างนั้นเป็นการก่อสร้างอะไร
โดยตัวอย่างที่เก็บมาได้นั้นแบ่งออกเป็น เหล็กประมาณ 300 -400 ชิ้นและคอนกรีตประมาณ 300 ตัวอย่าง ส่วนการเก็บตัวอย่างคอลิฟท์ ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุของการพังถล่ม แต่จากการลงพื้นที่ พบว่า ฐานคอลิฟท์ พังทลายไปหมด เหลือแค่พื้นฐานล่าง ที่เชื่อมกัน แต่ตัวคอกำแพงพังทลายไปหมดแล้ว
ส่วนปัญหาการออกแบบทางอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า การออกแบบนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ตามหลักการก่อสร้างนั้น จะมีเซฟตี้แฟคเตอร์ ซึ่งเป็นหลักการคำนวณเพื่อป้องกันการพังถล่ม ดังนั้น การออกแบบที่ไม่เป็นไปตามกฏหมาย อาจจะไม่ใช่สาเหตุของการพังถล่ม ซึ่งจะต้องไปรอดูผลของการจำลอง แบบคณิตศาสตร์ เพื่อดูว่าการออกแบบนั้นเป็นสาเหตุหรือไม่ แต่เบื้องต้นถือว่า เป็นการทำผิดกฎหมาย แต่จะพังหรือไม่พังขอให้ดูผลการจำลองเสียก่อน
อธิบดีกรมโยธาธิการฯ ยังกล่าวต่อด้วยว่า การจำลองโมเดล จะอ้างอิงข้อมูลจากแบบเป็นหลัก เพื่อนำมาคำนวณความแข็งแรงของตึก เพราะตัวอย่างวัสดุอุปกรณ์ที่เก็บมาจากหน้างาน ไม่ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี ในการหาความแข็งแรงของตึก แต่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในการหาคำตอบว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบหรือไม่ได้
ด้านนายทศพร ศรีเอี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันแบบจำลองสารสนเทศอาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอวิดีโอ ขณะที่ตึก สตง.ถล่ม ผนังที่แตกไม่ใช่ชั้นล่างสุด แต่เป็นชั้น 3 ซึ่งแตกก่อนเสาด้านหน้า ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีตึกเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ถล่ม ที่ชั้นบนร่วงลงมาใส่ชั้นล่าง แต่สตง.จะเห็นว่า มีการพังทลายของชั้นบน ซึ่งในแบบจะเห็นว่ามีอะไรอยู่ชั้นที่ 19 แต่ตรงนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะแบบผิด แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่แน่ว่ามาจากแบบแรก หรือมีใครสั่งให้เปลี่ยนแปลง เพราะผู้รับผิดชอบจะไม่เหมือนกัน
นายทศพร กล่าวว่า ตึก สตง. ไม่ใช่วิศวกรรมที่ดีหลายจุด เพราะเหล็กเยอะ และคอนกรีตที่หุ้มเหล็ก ผลจากการถล่มทำให้ยากต่อการนำไปตรวจสอบ แต่ก็คิดว่า ไม่ใช่สาเหตุหลัก สิ่งที่กังวลที่สุดในตอนนี้คือ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กข้ออ้อยกับเหล็กตัวที ที่มีการใช้งานตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีการวางมาตรฐานการผลิตเหล็กในประเทศที่ละเอียดมาก เหล็กที่ผลิตออกมาจะต้องผ่านวุฒิวิศวกรเข้าไปตรวจสอบด้วย จึงต้องย้อนกลับไปย้ำว่า การออกแบบตึก สตง.ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง โดยเฉพาะชั้น 19 แต่บอกไม่ได้ว่า การออกแบบเป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ เพราะเมื่อขอดูข้อมูลจากตำรวจและดีเอสไอ บอกว่า เป็นหลักฐานไม่สามารถเปิดเผยได้