วันที่15 พ.ค. 2568 เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเชียลมีเดียและเพจต่างๆทั่วทั้ง จ.ขอนแก่น ได้เผยแพร่ภาพข้อความจากเพจสมาพันธ์แพทย์ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป มีข้อความระบุว่า "ติดลบ1.2พันล้าน รพ.ขอนแก่นวิกฤติ ขาดยา-งบ เพราะคำสั่ง ให้มันพังที่เดียว วอนปลัดสธ.เร่งช่วยเหลือ อย่าซ้ำเติมหักOTบุคคลากร " โดยโพสต์ดังกล่าวมีประชาชน มาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก บางส่วนเรียกร้องให้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลให้มากขึ้น บางส่วนโจมตีนโยบายประชานิยมทำให้โรงพยาบาลขาดทุน
โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าการที่โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้บริหาร แต่เกิดจากงบประมาณที่จัดสรรไม่เพียงพอของรัฐบาลซึ่งการจ่ายค่าตอบแทนให้กับโรงพยาบาลของรัฐ จ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์หรือ RW ยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นโรคเดียวกัน เช่นโรคไส้ติ่งอักเสบ มีความรุนแรงของโรค เท่ากับ 1RW หากเป็นผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง สปสช.จะจ่ายให้หน่วยงานของรัฐ 1rw เท่ากับ 8,350 บาทถ้าเป็นผู้ป่วยสิทธิ์ประกันสังคม จ่าย 12,000 บาท สิทธิข้าราชการ กรมบัญชีกลางจะจ่าย 13,500 บาท ทำให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เกิดจากผู้ป่วยโรคเดียวกันจะได้เงินไม่เท่ากัน
สำหรับโรงพยาบาลใดดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเยอะ ก็มีโอกาสที่จะขาดทุนสูงกว่า ขณะที่ต้นทุนการรักษาคนไข้ จากการศึกษาพบว่า 1 rw ของโรงพยาบาลชุมชนอยู่ที่13,000 บาท แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย อย่างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 1RW เท่ากับ 22,000 บาท จะเห็นว่าต้นทุนค่ารักษา กับรายรับไม่สัมพันธ์กัน ทำให้หลายโรงพยาบาลของรัฐขาดทุน ส่วนกรณีผู้ป่วยนอก ถ้าเป็นสิทธิ์บัตรทองสปสช.จะจ่ายให้ตามครั้งที่มารักษา เช่น รพ. ก.จ่าย500 ต่อครั้ง รพ.ข.800บาทต่อครั้ง แต่ถ้าค่ารักษาเกิน สปสช.ไม่จ่าย โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนการรักษา แต่ถ้าเป็นสิทธิ์ข้าราชการกรมบัญชีกลาง จะจ่ายให้ ตามจำนวนจริงของค่ารักษาพยาบาล เช่นถ้ารักษา 10,000 บาท ก็จ่ายให้โรงพยาบาล 10,000 บาท
ทั้งนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนไข้ในโรงพยาบาลมีเยอะขึ้น เพิ่มขึ้นมาประมาณ 10-15% เพื่อลดการแออัดโรงพยาบาลจึงก็ต้องจ้างบุคลากรเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของโรงพยาบาลสูงขึ้นอีก ขณะที่ สปสช. ประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ยังจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามหลักเกณฑ์เดิม จึงทำให้เห็นว่าแพทย์พยาบาลลาออก เนื่องจากภาระงานที่หนักขึ้น
ซึ่งตอนนี้ขาดแคลนทั้งทรัพยากรบุคคล ขาดแคลนทั้งงบประมาณ สำหรับการแก้ไขปัญหานี้รัฐต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นมา ปัจจุบันรัฐบาลให้งบประมาณด้านสุขภาพ เพียง 4% จากงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ถ้าจะแก้ปัญหาก็จะต้องเพิ่มงบขึ้น 2 เท่าครึ่ง คือ 10% จึงจะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
พร้อมกันนี้ ศ.นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ปัญหา คือ ประชาชนที่มีความพร้อมต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล อาจจะเป็นเจ้าของร้านทอง ห้างร้าน ธุรกิจ ซึ่งมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่าย แต่ใช้สิทธิ์บัตรทอง เพราะได้เป็นข้าราชการ หรือพนักงานบริษัท ก็ควรจะร่วมจ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่สปสช.มีเงื่อนไขว่าห้ามคนใช้สิทธิบัตรทองจ่าย ถ้าปลดล็อกตรงนี้ให้คนมีกำลังทรัพย์ร่วมจ่ายถือว่าเป็นเรื่องดี ส่วนคนที่ใช้สิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ถ้าไม่มีก็ไม่ควรจะจ่าย เพราะการเข้าถึงสิทธิ์พยาบาล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน