ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
เมื่อปลายเดือนเมษายน เกิดเหตุการณ์กราดยิงนักท่องเที่ยวชาวอินเดียในแคว้นแคชเมียร์ เขตอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
เหตุการณ์นี้อินเดียได้กล่าวหาว่าเป็นฝีมือของปากีสถาน แต่ปากีสถานก็ปฏิเสธว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามต่อมาไม่นานอินเดียก็ใช้ขีปนาวุธถล่มค่ายทหารของปากีสถาน 3 แห่ง โดยอ้างว่าเป็นฐานก่อการร้าย ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 8-9 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งปากีสถานก็ประกาศว่าจะแก้แค้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งใหม่ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน
แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ผลของสงครามครั้งนี้ ขอนำเสนอเหตุแห่งปัจจัยและประวัติของความขัดแย้งระวห่างอินเดีย-ปากีสถาน ดังต่อไปนี้
ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเป็นหนึ่งในความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่ยาวนานและซับซ้อนที่สุดในโลกปัจจุบัน โดยมีรากฐานมาจากการแบ่งแยกชมพูทวีปในปีค.ศ.1947 ซึ่งความขัดแย้งนี้มีหลายมิติทั้งด้านการเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ และภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ
เริ่มจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ การแบ่งแยกอนุทวีปอินเดียในปี 1947 เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง เมื่ออังกฤษเจ้าอาณานิคมจำต้องปล่อยมือจากการปกครองดินแดนนี้ จึงได้แบ่งดินแดนออกเป็นสองประเทศ ตามเส้นแบ่งทางศาสนา โดยที่อินเดีย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ส่วนปากีสถานประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
การแบ่งแยกนี้นำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่และความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน ที่สร้างบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลถึงปัจจุบัน
แต่ประเด็นของความขัดแย้ง เรื่องแคว้นแคชเมียร์ ที่มีประชากร 99% นับถือศาสนาอิสลาม แต่เจ้าผู้ครองนับถือศาสนฮินดู ทว่าอังกฤษกลับตัดสินให้พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่กับอินเดีย ส่วนปากีสถานได้ครอบครองเพียง 1 ใน 3 จึงทำให้ปากีสถาน ทำการประท้วงเพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงเบื้องต้นในการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือแบ่งตามศาสนา
จากจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ซึ่งมองได้ว่าเจ้าอาณานิคมอังกฤษน่าจะมีเจตนาวางยาเอาไว้ เหมือนที่สร้างปัญหาในเรื่องเขตแดนในอาณานิคมอื่นๆ ทำให้อินเดียกับปากีสถานทำสงครามกันถึง 4 ครั้ง คือ
1.สงครามแคชเมียร์ครั้งที่ 1 (1947-1948)
2.สงคราม 1965 กรณีพิพาทแคชเมียร์
3.สงคราม 1971 อันนำไปสู่การแยกตัวของปากีสถานตะวันออกมาเป็นประเทศบังกลาเทศ
4.สงครามคาร์กิล 1999 ปากีสถานบุกข้ามเส้นคอนโทรลไลน์ในแคว้นแคชเมียร์ เขตคาร์กิล
นอกจากสงครามแล้ว อินเดียกับปากีสถานยังมีการปะทะกันประปรายตามแนวชายแดน
ปัญหาทับซ้อนของความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น คือ ปัญหาการก่อการร้ายที่อินเดีย กล่าวหา ว่าปากีสถานเป็นผู้สนับสนุน เช่น การโจมตีรัฐสภาอินเดียปี 2001 และการโจมตีมุมไบในปี 2008
สิ่งที่ทำให้นานาชาติวิตกกังวลมากขึ้น คือ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของความขัดแย้ง โดยอินเดียทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกปี 1974 ส่วนปากีสถานเพื่อสร้างดุล จึงได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1998
อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับมหาอำนาจของสองประเทศนี้ กล่าวคือในเบื้องต้นอินเดียมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหภาพโซเวียต ในขณะที่สหรัฐฯก็ให้ความช่วยเหลือปากีสถานโดยเฉพาะเรื่องอาวุธ
แต่ต่อมา อินเดียหันไปผูกสัมพันธ์กับสหรัฐฯมากขึ้น เพราะสหรัฐฯต้องการให้อินเดียมาช่วยปิดล้อมจีน ปากีสถานจึงหันไปมีความสัมพันธ์กับจีน เพราะมีพรมแดนติดกัน และจีนต้องอาศัยปากีสถานเป็นทางผ่านเส้นทางสายไหม (BRI) โดยเริ่มจากการสร้างถนนสายคาราคอรัม ที่เป็นเส้นทางวิบากไต่ไปตามภูเขาสูงและขอบเหว และการสร้างเท่าเรือน้ำลึกกวาด้า ซึ่งทำให้ปากีสถานเป็นหนี้จีนจำนวนมาก
นอกจากนี้จีนยังสนับสนุนปากีสถานด้วยการขายอาวุธที่ทันสมัยให้ โดยเฉพาะเครื่องบินรุ่น JF17 และขีปนาวุธรุ่นพรีเมี่ยม PL15 ซึ่งพัฒนามาจากขีปนาวุธรุ่น PL15 ประจำเครื่องที่ยิงได้ไกล 300 กม.และจีนยังให้สิทธิปากีสถานในการประกอบเครื่องบิน JF17 เหล่านี้เอง โดยมีสัญญาเบื้องต้นร้อยกว่าลำ
ดังนั้นเมื่อเกิดสงครามครั้งที่ 5 ในเดือนพฤษภาคม 2026 จึงพบว่าประสิทธิภาพของเครื่องบินจีนเหนือกว่าเครื่องบินรบของตะวันตก นั่นคือราฟาเอลของฝรั่งเศส ซึ่งถูกยิงตกถึง 3 เครื่อง รวมทั้งมิก 29 และ ซู 30 ของรัสเซีย
นอกจากนี้ปากีสถานยังสามารถทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย S-400 ลงได้ โดยปากีสถานไม่มีความสูญเสียของกำลังทางอากาศ
ดังกล่าวมาแล้วปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน มีความซับซ้อนจนยากแก้ไข อีกหลายประการ เช่น ปัญหาทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำสินธุ และสาขา ซึ่งไหลจากอินเดียเข้าไปในปากีสถาน แม้จะมีสัญญา 1960 ในการแบ่งปันน้ำแต่ก็ยังมีข้อพิพาทมาตลอด โดยล่าสุดอินเดียขู่ปิดกันเขื่อนในแม่น้ำสินธุ เพื่อทำให้ปริมาณน้ำในเขตปากีสถานลดลง
ปัญหาทับซ้อนประการต่อมาคือความขัดแย้งทางศาสนา โดยเฉพาะการที่ชาวฮินดูทำการรังแกชาวมุสลิมที่ยังคงอาศัยอยู่ในอินเดีย เช่น ที่แคว้นปัญจาบ และคนเหล่านั้นก็ยังมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติในปากีสถาน
อนึ่งสถานการณ์ที่ก่อตัวเป็นความขัดแย้งในปัจจุบัน ก็คืออินเดียทำการยกเลิกสถานะพิเศษของแคชเมียร์ ในปี 2019 และยกเลิกมาตรา 370 ซึ่งทำให้รัฐบาลกลางเข้าไปมีอำนาจในการควบคุมแคชเมียร์ ทำให้ปากีสถานไม่พอใจเพราะถือว่าประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิมจะถูกกดขี่จากรัฐบาลกลาง ที่มีความเป็นสุดโต่งทางศาสนาฮินดู นำมาสู่การสู้รบที่พุลวามา แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นสงคราม
ดังนั้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอินเดีย กับปากีสถาน แม้จะมีความพยายามใช้มาตรการทางการทูต และการเข้ามามีบทบาทของมหาอำนาจ ซึ่งบางกรณีก็มีความขัดแย้งกันเอง เช่น จีน กับ อินเดีย หรือจีนกับสหรัฐฯ ทำให้แนวทางด้านการทูตมีความชะงักงันเป็นช่วงๆ
อย่างไรก็ตามสำหรับนานาชาติ สิ่งที่กังวลคือสงครามนิวเคลียร์ ระหว่าง 2 ชาตินี้ เพราะหากเกิดขึ้นจะเดือดร้อนไปทั่ว โดยเฉพาะกับมันตภาพรังสี ที่จะแพร่กระจายออกไป โดยเฉพาะในภูมิภาคใกล้เคียง
แม้ตอนนี้จะมีการตกลงหยุดยิง แต่ก็เปราะบางจะระเบิดเมื่อไรก็ได้