โรคอ้วนกลายเป็นวิกฤตทางสาธารณสุขที่ทั่วโลกต้องเร่งแก้ไข จากข้อมูลของสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ปีพ.ศ. 2563 พบว่าผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือ 1 ใน 7 ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโรคอ้วน ขณะที่รายงาน World Health Statistics ค.ศ. 2023 ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า 39% ของผู้ใหญ่ หรือ 1.9 พันล้านคนมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปีพ.ศ. 2566 จากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยที่มีน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึง 48.35% สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการจัดการปัญหาโรคอ้วนอย่างจริงจัง

กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาโรคอ้วนแบบองค์รวม ในหลักสูตรการฝึกอบรม ‘แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน’ หรือ ‘HCP Obesity Curriculum Comprehensive Module’ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน ลดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงบูรณาการแนวทางการรักษาโรคอ้วนในทุกมิติอย่างครอบคลุม ทั้งการดูแลป้องกัน และการรักษาที่ยั่งยืน โดยสหสาขาวิชาชีพ

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าบทบาทสำคัญของแพทย์ในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เป็นนโยบายสาธารณสุข มุ่งเป้าไปที่การลดการเจ็บป่วยจาก NCD และการควบคุมโรคเบาหวานตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นประจักษ์แล้วว่า การลดน้ำหนัก 15% จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าสู่ภาวะสงบ การป้องกันและรักษาโรคอ้วนจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคเรื้อรัง รวมถึงโรคมะเร็ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคต่างๆ มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติหลายเท่า ดังนั้น การจัดการน้ำหนักไม่เพียงแค่เรื่องรูปร่าง แต่ยังเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงอีกด้วย

รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการดูแลโรคอ้วนว่า แพทย์ควรวินิจฉัยและติดตามผลอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ เนื่องจากโรคอ้วนมีปัจจัยหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ พันธุกรรม และสภาพจิตใจ ซึ่งการรักษาจะต้องมีการปรับแนวทางให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยสามารถแบ่งการรักษาได้เป็น 3 วิธีหลัก ได้แก่ 1.การปรับพฤติกรรมและโภชนาการ ที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ 5-10% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น 2.การใช้ยา โดยเฉพาะในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 27 กก./ตร.ม. ขึ้นไป และมีโรคร่วม หรือ BMI 30 กก./ตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งในกลุ่มนี้ ยากลุ่ม GLP-1 receptor agonists สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 10-20% และยังสามารถใช้รักษาโรคอ้วนในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปได้ ยากลุ่มนี้ทำงานโดยเลียนแบบฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและรับประทานอาหารได้น้อยลง 3.การผ่าตัดกระเพาะอาหาร สำหรับผู้ที่มี BMI 35 กก./ตร.ม. ขึ้นไปและมีโรคร่วม หรือ BMI 40 กก./ตร.ม. ขึ้นไป ซึ่งสามารถช่วยลดน้ำหนักได้ 20-40%

นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่าง ‘โรคหัวใจ’ กับ ‘โรคอ้วน’ ว่าไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจวายและอัมพฤกษ์-อัมพาต โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีทั้งโรคหัวใจและโรคอ้วน จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ หรือแม้แต่โรคกล้ามเนื้อหัวใจ นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโรค ฉะนั้น การลดน้ำหนักตัว 15% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยปรับปรุงสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

ผศ.พญ.อรภา สุธีโรจน์ตระกูล กุมารแพทย์อนุสาขาโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ในเด็กและวัยรุ่นว่าน่าเป็นห่วง โดยไทยมีความชุกของโรคอ้วนในเด็กสูงถึงร้อยละ 10-15 ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนและป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การแก้ไขต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติและพฤติกรรมในครอบครัวแต่เนิ่นๆ

รศ.ดร.นพ.วรุตม์ อุ่นจิตสกุล สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่า มิติทางจิตใจและสังคมมีความสำคัญในการประเมินและรักษาก่อนการผ่าตัด หรือในผู้มีค่า BMI สูง การบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม (CBT) จะช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักและปรับเปลี่ยนความคิด (เช่น ‘กินแก้เครียด’) และพฤติกรรม (เช่น ‘ชอบน้ำหวาน’) ที่นำไปสู่โรคอ้วนได้

ผศ.(พิเศษ)พญ.พัชญา บุญชยาอนันต์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เสนอว่า การจัดตั้ง ‘คลินิกโรคอ้วน’ ที่ใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพ (MDT) เป็นอีกก้าวสำคัญในการลดปัญหาโรคอ้วนและ NCDs เนื่องจากโรคอ้วนมีความซับซ้อนและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายระบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์หลายสาขา เช่น ศัลยแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และพยาบาล เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกับผู้ป่วยและดูแลอย่างครอบคลุม ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การสัมมนาครั้งนี้สะท้อนความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนที่ต้องบูรณาการหลายมิติอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการรักษาแบบองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งการปรับพฤติกรรม โภชนาการ การใช้ยา การผ่าตัด และการดูแลด้านจิตใจ เพื่อให้เกิดการลดน้ำหนักและป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการพัฒนาแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการตั้งคลินิกโรคอ้วนที่ใช้ทีมแพทย์หลายสาขามาร่วมดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งการทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการจะเป็นกุญแจสำคัญในการลดภาระโรคอ้วนและสร้างสุขภาพที่ยั่งยืนในอนาคต