เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 รายงานการวิเคราะห์ล่าสุดของ ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็ก ๆ ในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ สุขภาพจิต และสุขภาพร่างกาย นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19
รายงาน Report Card 19: สุขภาวะของเด็กในโลกที่ไม่แน่นอน จัดทำโดยยูนิเซฟ อินโนเซนติ (UNICEF Innocenti) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลของยูนิเซฟ ได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2561 และ 2565 เพื่อนำเสนอภาพรวมของผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการปิดประเทศที่มีต่อเด็กใน 43 ประเทศในกลุ่ม OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และสหภาพยุโรป โดยเมื่อเทียบกับรายงานครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว รายงานฉบับใหม่นี้ พบว่า เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กยังคงครองอันดับหนึ่งและสองในด้านความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก ตามด้วยฝรั่งเศส โดยพิจารณาดัชนีชี้วัดด้านสุขภาพจิต สุขภาพร่างกาย และทักษะต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ให้เห็นว่า หลายประเทศที่ร่ำรวยกำลังประสบกับการลดลงอย่างชัดเจนของทักษะทางวิชาการของเด็ก โดยเฉพาะทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่านและคณิตศาสตร์ การปิดโรงเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 3 ถึง 12 เดือน ทำให้เด็กจำนวนมากต้องเรียนทางไกล ส่งผลให้เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย รายงานประเมินว่า โดยเฉลี่ย เด็ก ๆ มีความรู้ล่าช้าจากระดับที่ควรจะเป็นราว 7 เดือนถึง 1 ปี และเด็กจากครอบครัวที่ขาดโอกาสมักได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด
“ก่อนเกิดโรคระบาด เด็ก ๆ ก็เผชิญกับปัญหาหลายด้านอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ แม้ในประเทศที่ร่ำรวย” นายโบ วิกเตอร์ ไนลุนด์ ผู้อำนวยการยูนิเซฟ อิโนเชนติ กล่าว “ณ ตอนนี้ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญกับการศึกษา สุขภาพ และความเป็นอยู่ของเด็ก เพื่ออนาคตและความสุขของพวกเขาในระยะยาว รวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสังคมด้วยเช่นกัน”
ในบรรดา 43 ประเทศ เด็กอายุ 15 ปีประมาณ 8 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของเด็กวัยนี้ขาดทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและคำนวณ หมายความว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าใจข้อความง่าย ๆ ได้ ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับโอกาสในอนาคตของพวกเขา ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 4 โดยประเทศที่มีสัดส่วนสูงที่สุด ได้แก่ บัลแกเรีย โคลอมเบีย คอสตาริกา ไซปรัส และเม็กซิโก ซึ่งมีเด็กอายุ 15 ปีกว่า 2 ใน 3 คนที่ขาดทักษะดังกล่าว
รายงานนี้ยังสะท้อนความกังวลด้านสุขภาพจิต โดยระบุว่า ความพึงพอใจในชีวิตของเด็กลดลงอย่างมากใน 14 จาก 32 ประเทศที่มีข้อมูล โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่มีแนวโน้มด้านนี้ดีขึ้น
นอกจากนี้ รายงานยังวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพร่างกายของเด็ก พบว่าอัตราน้ำหนักเกินของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญใน 14 จาก 43 ประเทศที่มีข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว
โดยสรุป รายงานชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่หลายประเทศก็ยังคงเผชิญความท้าทายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตและอนาคตที่ดีของเด็ก อีกทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ยังสะท้อนว่า ความก้าวหน้าด้านสุขภาวะเด็กที่เคยสะสมมาจากอดีต อาจถูกกระทบและถดถอยลงได้ง่ายจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของโลกในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศ OECD แต่ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดเลขของเด็ก ๆ ก็มีแนวโน้มแย่ลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟในปี 2565 ชี้ให้เห็นว่า เด็กในวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) มีทักษะด้านการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 52 ในปี 2562 และมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีทักษะพื้นฐานด้านการคำนวณ เมื่อเทียบกับร้อยละ 47 ในปี 2562
รายงานของยูนิเซฟ อินโนเซนติ เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในหลายด้านเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะของเด็ก ได้แก่:
- พัฒนาและเสริมสร้างทักษะพื้นฐาน เช่น การอ่าน การคำนวณ ทักษะดิจิทัล และทักษะทางสังคมและอารมณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส
- ส่งเสริมสุขภาพจิต ด้วยการป้องกัน การดูแล และบริการเฉพาะทาง พร้อมทั้งแก้ปัญหาความรุนแรงและการกลั่นแกล้งทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์
- เสริมสร้างสุขภาพทางร่างกายของเด็กด้วยการให้เด็ก ๆ เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ พร้อมทั้งควบคุมการตลาดอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงความเห็นและร่วมออกแบบแนวทางแก้ไข เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของพวกเขาอย่างแท้จริง
“ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสุขภาวะของเด็กเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่เปราะบาง” นายไนลุนด์กล่าว “ความท้าทายที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขผ่านแนวทางแบบบูรณาการและครอบคลุมตลอดช่วงวัยเด็ก เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาในทุกช่วงวัยของชีวิต”