กมธ.วิสามัญ พิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ลงดูสภาพคูกันช้างแบบดาดคอนกรีตที่พังทลายลงหลังเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จได้ไม่นานใน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยตาจนถึงที่ เพื่อสำรวจตรวจสอบความเสียหายพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 13 พ.ค.68 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนำโดยนายศักดิ์ชาย ตันเจริญ สส.ฉะเชิงเทรา เขต 3 พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ประกอบด้วยอธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายกวิศวรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 6 ปราจีนบุรี

ลงมาดูสภาพในพื้นที่จริงของคูกันช้างแบบดาดคอนกรีตที่พังทลายลงไปในคูดินแบบร่องลึก 4 เมตรเดิม ทั้งที่เพิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ และเริ่มแล้วเสร็จบางส่วนนับตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2567 จากพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ไปยังในเขตพื้นที่ อ.สนามชัยเขต ในระยะ 3 กม.แรก ตามวงเงินงบประมาณโครงการปี 2567 ในระยะเริ่มต้น เพื่อเป็นการทดลองก่อสร้างตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการชุดนี้ รวมระยะทาง 10 กม. เป็นเงินงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ให้เห็นด้วยตาทั้งคณะจนถึงที่ เพื่อสำรวจตรวจสอบถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในสถานที่จริง  

โดยทั้งคณะได้มีความเห็นและยังคงมั่นใจว่าการก่อสร้างแนวแบริเออร์คูกั้นช้างแบบดาดคอนกรีตสวมทับแนวคูกั้นช้างแบบร่องดินลึก 4 เมตรเดิมนี้ ยังจะสามารถป้องกันช้างป่าออกจากป่าไปรบกวนพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีสระแก้ว) ได้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในด้านความแข็งแรงของแนวคูกั้นช้างแบบดาดคอนกรีตนี้ให้แข็งแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น

และหากมีการเดินหน้าดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไปเป็นระยะ 10-20 กม.ในทุกๆ ปีตามงบประมาณ จนแนวของคูกั้นช้างแบบแบริเออร์ดาดคอนกรีตยาวไปตลอดแนวทั่วทั้งพื้นที่ จะทำให้ช้างไม่สามารถออกจากป่าไปไหนได้อีกอย่างแน่นอน และง่ายต่อการควบคุมเส้นทางการเดินออกจากป่าของช้างป่า ในระยะเริ่มทยอยก่อสร้างโครงการจนกว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้ จนท.รู้จุดในการเฝ้าระวัง เมื่อช้างถูกบีบเส้นทางการเดินเข้าออกไปยังบริเวณที่ยังไม่มีแบริเออร์ดาดคอยกรีต จนท.จะได้เข้าไปทำการเฝ้าระวังและควบคุมยังที่บริเวณจุดนั้น