หากกล่าวถึง “วันแม่” ก็ต้องถือเป็นวันๆ หนึ่ง ของทุกๆ ปี ที่มีการจัดงานในหลายวันแบบไม่ตรงกันในแต่ละกลุ่มประเทศ ตามแต่ละการถือ การจัดงานที่วันและเดือนไม่ตรงกัน
อาทิ เช่น บางกลุ่มประเทศ เช่น แอลเบเนีย อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน รัสเซีย เบลารุส บัลแกเรีย เซอร์เบีย และมอลโดวา เป็นต้น กำหนดให้ทุกวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันแม่
ส่วนบางกลุ่มประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และไนจีเรีย เป็นต้น ก็กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 4 แห่งเทศกาลมหาพรต ซึ่งมักจะตรงกับวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคม เป็นวันแม่
หรือบางประเทศ ก็กำหนดให้วันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินี หรือสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นวันแม่ เช่น ประเทศไทยเราเป็นต้น ที่กำหนดให้วันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งทางการไทยได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ อีกกลุ่มประเทศก็ถือเอาวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมในทุกๆ ปี เป็น “วันแม่” โดยกลุ่มนี้ ต้องถือว่า เป็นกลุ่มใหญ่ เพราะมีมากกว่า 50 ประเทศด้วยกัน และเป็นประเทศในหลายๆ ภูมิภาคของโลกเราอีกด้วย เช่น ออสเตรเลีย ภูฏาน บราซิล เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี อินเดีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน จาเมกา อุรุกวัย แซมเบีย ยูกันดา แม้กระทั่งประเทศหมู่เกาะห่างไกลอย่างปาปัวนิวกินี รวมไปจนถึงหมู่เกาะกรีนแลนด์ เป็นต้น
โดยกลุ่มประเทศที่ถือเอาวันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมในทุกๆ ปี เป็น “วันแม่” ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดก็ว่าได้นั้น เพราะมีถึงกว่า 50 ประเทศ ทั่วทุกภูมิภาคของโลกเรา ก็เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดงานวันแม่ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งในปีนี้ก็ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา
สำหรับ หัวข้อ หรือธีมหลัก ของงานวันแม่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว ก็คือ “การต่อสู้ต่อความอยุติธรรม”
ก็มีเหล่าบรรดาแม่ๆ ทั้งหลาย จัดกิจกรรมรณรงค์เป็นประการต่างๆ เพื่อที่จะบ่งบอกให้โลกรู้ว่า ผู้เป็นแม่นี้ จะขอต่อสู้กับความอยุติธรรม คือ ความไม่ยุติธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะความอยุติธรรมที่บังเกิดขึ้นต่อพวกลูกๆ ของคนเป็นแม่
โดยมีรายงานว่า บรรดาแม่ๆ ในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก เยอรมนี ออสเตรเลีย และยูกันดา ต่างพากันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ต่อสู้กับความอยุติธรรมข้างต้นอย่างเข้มข้น
ยกตัวอย่าง ที่เม็กซิโก ปรากฏว่า พลเมืองผู้เป็นแม่จำนวนนับหมื่น พากันเดินขบวนรณรงค์ไปตามท้องถนนในกรุงเม็กซิโกซิตี เมืองหลวงของประเทศ อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมเนื่องในวันแม่ประจำปี โดยต่างพากันตะโกนถ้อยคำ ที่เปรียบเสมือนคำขวัญของกิจกรรมวันแม่ในปีนี้ว่า แม่จะไม่ยอมแพ้ แม่จะต่อสู้อย่างไม่ยอมหยุดยั้ง เพื่อให้บังเกิดความยุติธรรมแก่ลูกๆ
ทั้งนี้ การต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรมของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูกๆ ในเม็กซิโก ก็เป็นต่อสู้กับกลุ่มอาชญากรรมและขบวนการค้ายาเสพติดทั้งหลาย ตลอดจนแก๊งค้ามนุษย์ ซึ่งได้คร่า ได้พลัดพรากชีวิตของพวกลูกๆ ไปจากพวกเธอ และมีหลายรายเหมือนกัน ที่ถูกแก๊งวายร้ายเหล่านี้อุ้มหาย โดยจนถึงบัดนี้ผู้เป็นแม่ก็ไม่รู้ชะตากรรมของลูกๆ พวกเธอว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
โดยผู้เป็นแม่ที่มาร่วมกิจกรรมวันแม่ในเม็กซิโก หลายคนก็พูดว่า ที่มาร่วมงาน ก็มิใช่เป็นการเฉลิมฉลองแต่ประการใด แต่มาทวงความยุติธรรมให้แก่ลูกๆ ของพวกเธอ ที่หายตัวไปจนถึงบัดนี้ ซึ่งการเดินขบวนข้างต้น ก็เพื่อให้ทางการได้ตระหนัก และดำเนินการจัดการกับแก๊งวายร้ายอย่างจริงจังกว่าที่เป็นอยู่
ส่วนที่ไต้หวัน ก็จัดกิจกรรมวันแม่ ด้วยการรณรงค์ให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะต่อเหล่าสตรี และเด็กๆ ที่ถูกล่วงละเมิด
พร้อมกันนี้ เหล่าผู้ร่วมกิจกรรมวันแม่ในไต้หวัน ยังได้เรียกร้องให้ทางการไต้หวัน ปฏิรูประบบ เพื่อให้สามารถดูแลและป้องกันเหล่าเด็กและสตรีจากการถูกล่วงละเมิด
ทางด้าน กิจกรรมเนื่องในวันแม่ที่ออสเตรเลีย ก็ได้รณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่สตรี ด้วยการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป็นประการต่างๆ
ขณะที่ ในเยอรมนี กิจกรรมวันแม่ บรรดาผู้เป็นแม่ทั้งหลาย ก็เดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงเบอร์ลิน ก่อนไปจบที่รัฐสภา พร้อมกับเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของสตรี รวมถึงสิทธิทางการเมือง ตลอดจนเรียกร้องให้ทางการรัฐบาลเยอรมนี สนับสนุนด้านการดูแลเด็กๆ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ดี กิจกรรมวันแม่ในบางประเทศ ก็อาจจะจัดแบบตรงกับธีมข้างต้นก็มี เช่น ที่ประเทศฮอนดูรัส ปรากฏว่า กลับกลายเป็นกลุ่มนักโทษในเรือนจำกลางในกรุงเตกูซิกัลปา เมืองหลวงของประเทศ ที่มีความสามารถทางดนตรี ก็ออกมาบรรเลงขับกล่อมกันอย่างสนุกรื่นเริงในเนื่องวันแม่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ด้วยเช่นกัน