ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ตลาดหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา นางนงนาถ นพเพชร อายุ 50 ปี และนายวุฒิศักดิ์ นพเพชร บุตรชายที่มาช่วยแม่ เนื่องจากมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดเรียน สองแม่ลูกมาตั้งโต๊ะ ขายขนมโบราณ “ม่อฉี” ซึ่งทำสดๆกันตรงนั้น โดยคุณแม่เป็นฝ่ายปั้นขนม และลูกชายก็ช่วยแพ็คใส่กล่อง และช่วยขาย ในราคา 5 ลูก 20 บาท มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา บางครั้ง ปั้นขนมแทบไม่ทัน

 

สำหรับ “ขนมม่อฉี” โมจิเมืองไทยของชาวสงขลา ขนมหวานที่มีลักษณะเป็นแป้งหนืด ๆ ก้อนกลม ๆ ข้างในเป็นไส้ น้ำตาลแว่น ถั่ว งา และเกลือของสงขลานี้ เป็นขนมที่อาจจะไม่ได้เก่าแก่โบราณหลายร้อยปี แต่ก็มีประวัติเรื่องเล่าอิงถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างที่เราเห็นกัน ขนมชนิดนี้มีลักษณะและชื่อที่คลับคล้ายใกล้เคียงกับชื่อของ “โมจิ” มาก ทำให้เข้าใจว่ามาจากขนมโมจิ โดยอาจารย์วันดี ณ สงขลา ให้ข้อมูลว่าประวัติขนมม่อฉีของสงขลานี้มีพัฒนาการประยุกต์กับโมจิ

 

โดยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้าสู่ดินแดนไทยได้สำเร็จในหลายจังหวัดทางภาคใต้โดยกองทัพเรือ ทำให้ปรากฏร่องรอยของชาวญี่ปุ่นในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทหารญี่ปุ่นนำอะไรหลาย ๆ ติดตัวมาด้วย หนึ่งในนั้นก็คือวัฒนธรรมอาหารที่ได้เผยแพร่สู่คนในพื้นที่ โดยทหารญี่ปุ่นเป็นผู้สอนให้คนไทยได้รู้จักวิธีการทำขนมนี้ขึ้นมาโดยประยุกต์จากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ซึ่งทหารญี่ปุ่นคงจะเรียกสิ่งนี้ว่าโมจิ แต่คนไทยคงได้ยินแล้วพูดตามจนเพี้ยนเป็นม่อฉีที่ฟังดูเป็นชื่อจีนขึ้นมา

 

ในปัจจุบันนี้ ขนมม่อฉีอาจจะเป็นขนมที่ไม่ได้มีวางขายกันอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างเช่นที่สงขลาซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดหลัก โดยนอกจากสงขลาแล้วขนมชิ้นนี้ก็ยังถูกเผยแพร่ออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงด้วย

ซึ่งนางนงนาถ นพเพชร กล่าวว่า ขนม ม่อฉี ขนมโบราณที่หาทานยาก ทำออกมาขายเพื่อให้คนได้ทานกัน โดยสูตรได้มาจาก เกาะยอ ส่วนผสมก็มี แป้งข้าวเหนียว ถั่ว งา และน้ำตาลโตนด โดยขาย 5 ลูก 20 บาทจะมาขายบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลาที่นี่ที่เดียวทุกวันศุกร์