บทวิเคราะห์เลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น ทิศทางท้องถิ่นเปลี่ยนไม่ง่าย ถ้ารัฐและประชาชนยังไม่จริงจังแก้จน


รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล
อาจารย์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า “การเมืองท้องถิ่นไทยยังคงติดอยู่ในวงจรเดิม” และห่างไกลจากการเป็นประชาธิปไตยฐานรากอย่างแท้จริง แม้จะมีการเลือกตั้งกระจายครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 2,469 แห่ง แต่โครงสร้างและบริบททางการเมืองยังสะท้อนการผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มเดิม ๆ ที่ใช้ทั้งทุน เครือข่าย และระบบอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือรักษาฐานอำนาจไว้ได้อย่างมั่นคง

ภาพที่ชัดเจนที่สุดในสนามนี้ คือ การแข่งขันระหว่าง "บ้านใหญ่" กับ "บ้านใหม่" ซึ่งยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่สมดุล “บ้านใหญ่” ยังคงครองอิทธิพลในหลายพื้นที่ด้วยความได้เปรียบทั้งด้านทรัพยากร ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ และเครือข่ายราชการ ขณะที่ "บ้านใหม่" ที่แม้จะมีกระแสความนิยมจากประชาชนรุ่นใหม่ หรือชูภาพความโปร่งใส กลับยังไม่สามารถเจาะฐานเสียงได้อย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ชนบท เพราะขาดทั้งทุนและเครือข่ายสนับสนุนเชิงโครงสร้าง

จากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นได้ชัดว่าการเมืองระดับท้องถิ่นยังตกอยู่ภายใต้กรอบของ "กระแส vs กระสุน" ซึ่งสุดท้ายแล้ว “กระสุน” ยังชนะ “กระแส” ในหลายพื้นที่ ยังถูกมองว่ามีการใช้เงิน การแจกสิ่งของ หรือการอำพรางการซื้อเสียงในรูปแบบกิจกรรมชุมชน หรือโอนผ่านแอปฯ ยังคงมีอยู่ใช่หรือไม่ แม้จะมีกลไกควบคุมจาก กกต. เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือการรณรงค์ไม่ซื้อเสียง แต่ก็ยังไม่สามารถสกัดการทุจริตที่แฝงซ้อนซ่อนลึกได้

อีกมิติหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ การเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่ส่งผลถึงขั้นทำให้รัฐบาลสั่นคลอนในระยะสั้น แต่สะท้อนสัญญาณ “รอยร้าว” ภายในพรรคร่วมรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นการจัดสรรงบประมาณและการแบ่งปันอำนาจในพื้นที่ พรรคที่มีฐานเสียงในท้องถิ่น เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือพรรคเล็กอื่น ๆ พยายามใช้ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเสริมความชอบธรรมในเวทีต่อรองทางการเมือง เพื่อรักษาบทบาทในรัฐบาลผสม ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านแม้จะมีจุดแข็งในพื้นที่เขตเมืองหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ยังไม่สามารถบุกพื้นที่ชนบทที่ “บ้านใหญ่” ฝังรากลึกได้สำเร็จ

ในเชิงโครงสร้าง รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร กำลังเผชิญแรงเสียดทานหลายด้าน ทั้งจากภายใน คือพรรคร่วมรัฐบาลไม่ลงรอย และภายนอกคือเศรษฐกิจถดถอย นโยบายประชานิยมที่ถูกตั้งคำถาม เมื่อรวมกับผลเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ได้ชี้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ยิ่งสะท้อนถึงภาวะชะงักงันของการเมืองไทยในภาพรวม เพราะแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่โครงสร้างการเมืองท้องถิ่นยังไม่เปลี่ยนตาม

คำถามสำคัญที่ควรถามในเวลานี้จึงไม่ใช่เพียงว่า "ใครชนะเลือกตั้งท้องถิ่น" แต่ควรถามว่า"ท้องถิ่นได้เปลี่ยนแปลงหรือยัง?" หากคำตอบยังคงเป็น “ยังไม่” นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งยังเป็นเพียง “พิธีกรรมทางประชาธิปไตย” ไม่ใช่กระบวนการคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง และหากรัฐบาลกลางยังมองข้ามปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความล้มเหลวของระบบรัฐสวัสดิการในพื้นที่ห่างไกล ก็ยากที่การเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนยังคงตกอยู่ในสถานะของผู้พึ่งพิงมากกว่าผู้เลือกตั้งอย่างมีอิสระ

การเมืองท้องถิ่นจะไม่เปลี่ยน หากรัฐไม่กล้าแตะโครงสร้างอำนาจ และประชาชนยังไม่มีอำนาจในการต่อรอง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองการเมืองท้องถิ่นให้มากกว่าการเลือกตั้ง แต่เป็น “พื้นที่เปลี่ยนผ่านอำนาจ” อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูประบบงบประมาณ ยกระดับรัฐสวัสดิการ ลดบทบาทของระบบอุปถัมภ์และสร้างประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีอำนาจเลือกและตรวจสอบได้ ประชาธิปไตยท้องถิ่นจะเปลี่ยนได้ ต้องเปลี่ยนจากฐานรากของความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่แค่ฐานเสียงของการเลือกตั้ง หากรัฐยังไม่จริงจังกับการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดอำนาจโดยกลุ่มเดิม ๆ แล้ว การเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะยังเป็นเพียงพิธีกรรมทางประชาธิปไตย ไม่ใช่เครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริง