ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากการที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีโอกาสพบการระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก มีความห่วงใยต่อการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของกำลังพลและครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หน่วยทหารของกองทัพบกได้รับทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/68 เข้าสู่ช่วงการฝึกทหารใหม่ และต้องมีการอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้หน่วยทหารทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรฐานการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่กรมแพทย์ทหารบกได้กำหนดอย่างเข้มงวด

โดยให้การฝึกทหารใหม่เน้นการเว้นระยะห่าง จัดสภาพแวดล้อมให้มีอากาศถ่ายเท ลดความแออัด ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา (ยกเว้นในขณะที่ออกกำลังกายและในระหว่างการนอนหลับ) และให้ดำเนินการคัดกรองอาการระบบทางเดินหายใจของทหารใหม่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้าและเย็น)

หากพบทหารใหม่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเร็ว ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรืออ่อนเพลีย ให้ดำเนินการคัดแยกผู้ป่วยตามแนวทาง Community Isolation และส่งรักษาทันที หากพบทหารใหม่เจ็บป่วยมากกว่า 3 นายขึ้นไป ให้ดำเนินการแจ้งโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรค

นอกจากนี้ ให้หน่วยฝึกทหารใหม่ทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในหน่วยฝึกทหารใหม่ ตาม 6 มาตรการหลัก ดังนี้ 1. Distancing: เว้นระยะห่าง 1–2 เมตร ไม่อยู่ในที่แออัดหรือมีอากาศถ่ายเทได้น้อย 2. Masking: สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือเมื่อมีอาการน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ 3. Handwashing: ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ด้วยการล้างมือ 7 ขั้นตอน อย่างสม่ำเสมอ 4. Ventilation: เพิ่มการถ่ายเทอากาศภายในโรงนอน หันพัดลมไปในทิศทางเดียวกัน ไม่วางตู้ขวางทิศทางลม 5. Isolation: คัดแยกผู้ที่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจจากคนปกติ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค 6. Cleaning: ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบจับสัมผัสบ่อย ๆ และนำที่นอน หมอน ผ้าห่ม มาตากแดด

ในขณะเดียวกัน ได้มีการเน้นย้ำและแจ้งเตือนกำลังพลให้ปฏิบัติตามมาตรการพิทักษ์พล และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจในกำลังพลกองทัพบกและครอบครัวอย่างเคร่งครัด หากมีอาการเจ็บป่วยให้ดำเนินการตรวจคัดกรองหาเชื้อขั้นต้น และเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค