ราชทัณฑ์กับการสู่ยุคแห่งความโปร่งใส
งานในส่วนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) นั้น มีขั้นตอนและการดำเนินการตามกระบวนการหลายขั้นตอนที่แยกส่วนกันอยู่ในภาระหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่การสืบสวน จับกุม สอบสวน ฟ้องร้อง พิจารณาพิพากษาคดีและการบังคับโทษตามคำพิพากษา โดยในส่วนของการบังคับโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นอยู่ในส่วนภารกิจของกรมราชทัณฑ์เป็นหลัก
จุดสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น มุ่งหมายไปในทางให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง คนดีได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย คนที่กระทำผิดได้รับการลงโทษตามผลแห่งการกระทำ การดำเนินการต่าง ๆ จึงต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ หลักการพิจารณาของศาลจึงต้องกระทำโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลย จำเลยเป็นศูนย์กลางของการพิจารณาคดี ได้รับการรับรองหรือกำหนดหลักประกันต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลย จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
เมื่อจำเลยถูกศาลพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ ก็เป็นบทบาทภารกิจของกรมราชทัณฑ์ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาและแนวทางการลงโทษทั้งในด้านการป้องปรามการกระทำผิด การทำให้เข็ดหลาบและแก้ไขฟื้นฟูเพื่อให้นักโทษกลับคืนสู่สังคมได้โดยไม่วนเวียนกระทำผิดซ้ำหรือก่อภัยให้แก่สังคมส่วนรวมต่อไป
ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยร่วมไปดูงานราชทัณฑ์ที่เรือนจำระดับใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ที่นำดูงานส่วนต่าง ๆ ได้กล่าวกับผู้เขียนตอนหนึ่งว่า กรมราชทัณฑ์ก็เหมือนกับผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับขยะ ในการดำเนินการก็อาจจะมีกลิ่นเหม็นหรือความไม่ถูกต้องบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ผ่านมานานร่วม ๔๐ กว่าปีแล้ว ซึ่งเมื่อมาย้อนดูความเป็นมาของกรมราชทัณฑ์แล้วก็จะเห็นได้ว่าหน่วยงานนี้เคยผ่านการสังกัดมาแล้วทั้งกระทรวงยุติธรรมในสมัยเดิมซึ่งมีศาลรวมอยู่ด้วย ต่อมามาอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งปัจจุบันมาสังกัดกระทรวงยุติธรรมในยุคที่ศาลแยกออกจากระทรวงยุติธรรม
ภารกิจของกรมราชทัณฑ์นั้นมีความหลากหลาย แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับผู้กระทำความผิด แต่ก็มีปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาจนยากที่จะแบกรับได้ โดยเฉพาะในช่วงหลังมีปัญหานักโทษล้นเรือนจำ ปัญหาความไม่โปร่งใสในการบริหารจัดการ จนกระทั่งคำว่า “คุกคือแดนสนธยา” ก็ยังเป็นถ้อยคำที่แสดงถึงสภาพของกรมราชทัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน
ผลจากการที่นักโทษล้นเรือนจำ โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดยาเสพติด ทำให้ต้องหาทางระบายออก โดยการพักการลงโทษ การย้ายไปอยู่เรือนจำที่แยกออกไป นอกจากนี้ดูเหมือนจะมีการแก้ไขปรับปรุงใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางธุรการหรือกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสังคมมีมุมมองต่อกรมราชทัณฑ์ไปในทางลบ โดยเฉพาะกรณีความผิดอุกฉกรรจ์ถึงขั้นลงโทษประหารชีวิต ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ดูเหมือนว่าจะได้รับโทษจริงเพียงประมาณ ๑๒ ถึง ๑๖ ปี ก็อาจจะได้รับการพักการลงโทษหรือพ้นโทษไป ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นรายย่อยก็มีโอกาสที่จะกลับเข้าสู่สังคมและกระทำผิดซ้ำมากขึ้น
นอกจากนี้แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่างานบังคับโทษจะเป็นงานที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ดำเนินการในลักษณะที่ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน ประชาชนไม่มีโอกาสหรือช่องทางในการรู้เห็นถึงความเป็นไปเท่าที่ควร ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบอาจจะถูกละเลยไปในขั้นตอนของการบังคับโทษ การพิจารณาลดโทษตลอดจนการกระทำต่างๆที่มีผลดีต่อนักโทษถึงขั้นที่จะกลับเข้ามาสู่สังคมนั้น ผู้เสียหายไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบที่ตนเองได้รับว่าเป็นอย่างไรเพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับการลงโทษผู้กระทำผิดที่ได้รับอยู่ ซึ่งต่างกับในกรณีที่ต่างประเทศที่คณะกรรมการพักการลงโทษ หรือลดโทษจะมีตัวแทนภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการพิจาณาด้วย
ในยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งความโปร่งใส ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน ตลอดจนสิทธิในการรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆของประชาชน กรมราชทัณฑ์เองอาจจะต้องมีการปรับตัวเกี่ยวกับการดำเนินการตามภารกิจในลักษณะของการปรับตัวแบบขนานใหญ่หรือยกเครื่องใหญ่ (Overhaul) เรื่องเล่าหรือคำกล่าวเมื่อ ๔๐ กว่าปี ที่ผู้เขียนได้รับฟังมาดังกล่าวคงไม่อาจจะนำมาอ้างได้ในปัจจุบัน ตลอดจนไม่อาจอ้างข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการหรือข้ออ้างใดๆได้อีกต่อไป การแก้ไขปัญหาต่างๆในปัจจุบันคงมิใช่เฉพาะกรมราชทัณฑ์ที่จะแก้ไขได้ด้วยตนเอง แต่ต้องอาศัยต้นสังกัดหรือกระทรวงยุติธรรมที่จะต้องพิจารณาดำเนินการต่างๆให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง เที่ยงธรรมและเกิดความเหมาะสม สามารถที่จะตอบสังคมส่วนรวมได้อย่างแท้จริง ในส่วนของกรมราชทัณฑ์เองอย่างน้อยก็ยังจะต้องปรับและยืนหยัดอยู่บนทัศนคติของความถูกต้อง ชอบธรรม ไม่คลุมเครือเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดในทางที่มิชอบ มีความแน่วแน่ที่พร้อมจะยืนหยัดในความถูกต้อง ชอบธรรมให้สมกับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างแท้จริง
บทความโดย ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง