(9พ.ค.68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวคิดการคืนการบริหารจัดการรถไฟฟ้าในส่วนของ กทม.ให้รัฐบาลดำเนินการแต่ผู้เดียวว่า เหตุผลคือ เชื่อว่าการมีเจ้าของเพียงผู้เดียว (single owner) จะทำให้บริหารจัดการง่ายขึ้น โดยเฉพาะการคิดราคาแรกเข้า หรือค่าตั๋วต่าง ๆ ซึ่งหากจะคืนต้องคืนทั้งหมด ไม่ใช่แค่บางส่วน รวมถึงส่วนต่อขยายต่าง ๆ ด้วย เพื่อมอบให้ผู้ที่รับไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้ ยังเป็นเพียงแนวคิด ต้องเจรจากับรัฐบาลอีกครั้ง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ กทม.ลงทุนไปแล้วบางส่วน เช่น ค่างานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (E&M) ส่วนต่อขยาย เป็นต้น ส่วนรัฐบาลลงทุนบางส่วนเช่นกัน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง ในส่วนสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลัก ประกอบด้วย สายสุขุมวิท (หมอชิต - อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี โดยสัมปทานส่วนนี้มีระยะเวลา 30 ปีนับแต่วันเดินรถ คือวันที่ 5 ธันวาคม 2542 และจะหมดสัญญาอีก 5 ปีต่อจากนี้ คือวันที่ 4 ธันวาคม 2572 ต้องเจรจากับรัฐบาลว่าจะดำเนินการส่วนนี้อย่างไรต่อไป

"จุดประสงค์คือ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ขณะเดียวกัน กทม.จะได้พุ่งเป้าดำเนินการเรื่องที่ตรงกับบทบาทหน้าที่ของตนเองมากขึ้น เช่น เรื่องรถเมล์ ทางเท้า การเจราจรทางเลือก โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นเลือดฝอย ซึ่ง กทม.อาจจะรับผิดชอบส่วนนี้ได้ดีกว่า ส่วนเส้นเลือดใหญ่หรือเรื่องรถไฟฟ้า หากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแลทุกสายก็จะทำให้การเชื่อมโยงโครงข่ายมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายชัชชาติ กล่าว

สำหรับรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนและความดูแลของ กทม. ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ คาดวงเงินก่อสร้างงานโยธาประมาณ 20,000 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ คาดวงเงินก่อสร้างงานโยธาประมาณ 40,000 ล้านบาท 3.รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน คาดวงเงินก่อสร้างงานโยธาประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท

ในส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลัก ประกอบด้วย สายสุขุมวิท (หมอชิต - อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร) ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี จะหมดสัญญาปี 2572

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 1 ส่วนต่อขยายจากระบบรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลัก ระยะทาง 12.75 กิโลเมตร ประกอบด้วย ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทางคือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน - บางหว้า ระยะทาง 7.45 กิโลเมตร 6 สถานี) และส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (อ่อนนุช - แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร 5 สถานี) และ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว 2 ระยะทางรวม 32.0 กิโลเมตร ประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง - เคหะฯ ระยะทาง 13.0 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต - คูคต ระยะทาง 19.0 กิโลเมตร) จะหมดสัญญาในปี 2585