จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน และการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยการนำเอา Soft Power ของไทย มาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการรักษาเอกลักษณ์และเสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว
เปิดประสบการณ์ใหม่
ซึ่ง นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า มั่นใจในประเทศไทยที่มีเสน่ห์หลากหลาย รวมถึงอาหารในท้องถิ่นที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาสัมผัส โดยเฉพาะเมืองรองที่รอคอยทุกคนมาสัมผัส มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะสร้างความสุขและความประทับใจอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก ในทุกแหล่งท่องเที่ยวจะมี ตำรวจท่องเที่ยว คอยดูแลอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือ หากนักท่องเที่ยวมีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อตำรวจท่องเที่ยวได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 1155 พร้อมต้อนรับและดูแลทุกท่านด้วยความเต็มใจ
อีกทั้งในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็น ทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 2/2568 ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม จังหวัดนครพนม โดยลงพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก (จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เป็นโอกาสอันดีที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.ได้นำเสนอเมืองน่าเที่ยว ซึ่งมีความโดดเด่นด้านประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว อาทิ สนามบิน โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น
โดยผู้ประกอบการโรงแรมได้นครพนม ได้จัดแพ็กเกจห้องพักร่วมกับกิจกรรมท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว เสนอขายกิจกรรมกระตุ้นการพักค้างควบคู่กับงานประเพณี อาทิ กิจกรรมตักบาตรเช้า เวียนเทียน ล้อมวงกินพาแลง อาหารพื้นถิ่น เป็นต้น มุ่งเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว Gen Y ที่มีความสนใจท่องเที่ยวสายศรัทธา (สายมูเตลู) เนื่องจากเป็นช่วงวัยแห่งความหวัง มีกำลังในการใช้จ่ายพร้อมส่งต่อเรื่องราวการเดินทางแชร์ต่อให้บุคคลใกล้ชิด
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งตรงกับเทศกาลออกพรรษาถือเป็นช่วงไฮไลต์ของพื้นที่นครพนมและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสกลนครและมุกดาหาร โดย ททท.ได้ชูจุดขายไฮไลต์งานประเพณีและการท่องเที่ยวสายศรัทธา ได้แก่ ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร งานบวงสรวงบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราช ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี เป็นต้น พร้อมผลักดันประเพณีไหลเรือไฟสู่ระดับนานาชาติ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพในอนาคต ตลอดจนต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมสู่สากล
ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดโอกาสทางการตลาด ททท.มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวชายแดนในจังหวัดนครพนม โดยเน้นการเชื่อมโยงวัฒนธรรม ธรรมชาติและ อาหารระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ใช้ทุนทางวัฒนธรรมในการสร้างประสบการณ์ทางการ ด้วยการส่งเสริมการขาย ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวในพื้นที่จัดทำเส้นทางท่องเที่ยว นครพนม-มุกดาหาร-สะหวันเขต (สปป.ลาว) เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว เพิ่มวันพักแรมในพื้นที่ ตลอดจนดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวลาวและนักท่องเที่ยวเวียดนาม เป็นต้น
ผลักดันการเติบโต
ด้าน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า จากการประเมินล่าสุดโดยบริษัท เคเนติกส์ คอนซัลติ้ง พบว่า ภาพลักษณ์ด้านอาหารของไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 53% เป็นรองเพียงประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น และจากความร่วมมือกับมิชลิน ไกด์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยยกระดับวงการอาหารไทยและการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่เพียงช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอาหารไทย แต่ยังส่งผลเชิงเศรษฐกิจด้วย
ทั้งนี้ นางสาวฐาปนีย์ กล่าวต่อว่า งบประมาณที่รัฐบาลลงทุนปีละ 25 ล้านบาท สามารถสร้างการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในร้านอาหารที่ได้รับการแนะนำในคู่มือสูงถึง 500 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 60-70% จากปีก่อน
ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ รายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่มุ่งเป้ามากินอาหารคุณภาพ คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือเฉลี่ยปีละ 4 แสนล้านบาท จากรายได้การท่องเที่ยวต่างชาติรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 7.5% ต่อปีอย่างยั่งยืนด้วย