เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ จึงทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคต้องปรับตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ขณะที่รายได้กลับไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้เกิดเทรนด์ No Buy หรือที่เรียกกันว่า การอวดประหยัด ซึ่งกลายเป็นแนวคิดหลักของผู้บริโภคยุคใหม่ในการบริหารรายจ่ายอย่างมีสติ
ให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการ
โดย นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงในระยะยาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้พลิกมุมมองการใช้จ่ายของผู้บริโภคจาก ซื้อเพื่อสะสม สู่ ซื้อเพื่อประสบการณ์ โดยให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ คุ้มค่า และมีราคาสมเหตุสมผล เช่นเดียวกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน นักท่องเที่ยวยุคใหม่เริ่มหันมาเลือกเดินทางแบบ กลุ่มเล็กหรือกลุ่มเพื่อน เพื่อช่วยแบ่งค่าใช้จ่ายในด้านที่พักและกิจกรรม อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการเดินทางเชิงประสบการณ์ แทนการท่องเที่ยวแบบหรูหราหรือเพื่อโชว์ภาพลงโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด มาคาเลียส ได้เตรียมปรับแผนการตลาดเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ “No Buy - การอวดประหยัด” ภายใต้กลยุทธ์ “Value-Based Marketing” มอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าในราคาที่เข้าถึงได้ ด้วยการมุ่งมั่นออกแบบแพ็คเกจท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ทั้งด้านอารมณ์และความคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของที่พัก อาหาร กิจกรรม ไปจนถึงราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ “Promotion” ด้วยการดึงอินไซต์ปัจจุบันของผู้บริโภคที่นิยมซื้อแพคเกจขนาดใหญ่เพื่อนำมาแชร์หรือหารกันในกลุ่มเพื่อนเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง มาพัฒนาเป็นโปรโมชั่นที่เข้าถึงได้จริง เช่น การจัดทำแพคเกจ Friend For Friend การซื้อแพคเกจที่สามารถนำไปแบ่งใช้หรือแชร์ให้กับเพื่อนๆ ในรูปแบบ Gift Voucher มอบเป็นของขวัญในเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ ซึ่งถ้าซื้อเยอะราคาจะถูกลดหลั่นกันลงไป เป็นต้น
ขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการ
นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า แนวทางต่อมาคือ “On-Ground Experience” สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แท้จริง ด้วยแนวคิด Slow Travel แทน Luxury Travel โดยได้ขยายความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ขนาดกลางและขนาดเล็กช่วยกันออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเสริมในแพคเกจที่พัก เช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การร่วมทำกิจกรรมกับชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยววัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งไม่เพียงช่วยส่งเสริมยอดขาย แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย
สร้างกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์
สุดท้าย “Online Campaign” การสร้างกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเอนเกจเมนต์และเป็นการมอบของขวัญ ส่วนลด และโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้แก่ลูกค้า อาทิ แคมเปญ “ไม่ได้ซื้ออะไรใหม่เลย...นอกจากประสบการณ์” โดยเชิญชวนลูกค้าร่วมแชร์รีวิวการท่องเที่ยวแบบคุ้มค่า วางแผนทริปด้วยงบจำกัด เป็นต้น เพื่อสร้างเป็นแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นว่าการเดินทางไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายมากมาย แต่สามารถสร้าง “คุณค่า” ได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า เทรนด์การอวดประหยัดนี้จะไม่ใช่เทรนด์ระยะสั้น แต่จะกลายเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวตาม ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาแพคเกจที่พักที่มีความยืดหยุ่น มีตัวเลือกหรือทางเลือกเพิ่มเติม รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนและโปร่งใส นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่รวมอยู่ในแพคเกจอย่างชัดเจน เช่น ราคา ค่าบริการต่างๆ และสิทธิประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ และการรับฟังและปรับตัวตามเสียงของผู้บริโภค