รองผู้ว่าฯ อ่างทอง ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับเกษตรไม้มงคล และไม้ใบชนิดพันธุ์อโกลนีมา
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 14.30 น. ณ บ้านทองเลื่อน หมู่บ้านไม้มงคล ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้มอบหมายให้ นายทัศนัย สุธาพจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอ่างทอง เกษตรอำเภอแสวงหา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาและยกระดับเกษตรไม้มงคล และไม้ใบชนิดพันธุ์อโกลนีมา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บ้านทองเลื่อนเป็นชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิม โดยประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและปลูกอ้อย แต่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและราคาผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรในพื้นที่จึงได้มีแนวคิดปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูก “ไม้มงคล” และไม้ใบชนิดต่าง ๆ ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง และสามารถบริหารจัดการควบคู่กับเกษตรกรรมแบบเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เกษตรกรได้รวมกลุ่มจัดตั้ง “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้มงคลและไม้สวยงามบ้านทองเลื่อน” และในปี พ.ศ. 2561 ได้รับการส่งเสริมให้เป็น “แปลงใหญ่ไม้มงคลตำบลแสวงหา” โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันบ้านทองเลื่อนได้รับการยอมรับว่าเป็น แหล่งผลิตไม้มงคลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จากการประชุมหารือร่วมกัน ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนาและยกระดับกลุ่มเกษตรกรไม้มงคลและไม้ใบในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยการสนับสนุนการจัดประกวดไม้ประดับและไม้มงคลในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ และคัดเลือกสายพันธุ์เด่น เพื่อสร้างฐานข้อมูลพันธุ์ไม้พื้นถิ่น ส่งเสริมแนวคิดการจัดงาน “เทศกาลไม้มงคล” เพื่อส่งเสริมการตลาด สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและ วางแผนพัฒนาสายพันธุ์อย่างเป็นระบบ โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการ (Lab) สำหรับปรับปรุงพันธุ์ไม้ ภายใต้การดูแลของสำนักงานเกษตรอำเภอ และเชื่อมโยงกับกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง
อีกทั้ง ส่งเสริมการอบรมและพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มพูนทักษะเกษตรกรด้านเทคโนโลยีการเกษตร การตลาด และการบริหารจัดการฟาร์ม จัดทำโครงการ “ถนนไม้มงคล” ปรับปรุงภูมิทัศน์เส้นทางในชุมชนให้เป็นจุดขาย จุดเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว โดยมีไม้ประดับหลากหลายชนิด เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต เช่น ลานจัดแสดงพันธุ์ไม้ ศูนย์เรียนรู้การเกษตร ร้านค้าชุมชน และการปรับปรุงระบบทางเข้าออกให้สะดวกและปลอดภัย
ที่สำคัญต้อง วางเป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาไม้มงคล (Plant Innovation Hub)” มุ่งเน้นให้เป็นศูนย์เรียนรู้ วิจัย พัฒนา และการท่องเที่ยวแบบครบวงจร เพื่อรองรับการขอรับงบประมาณพัฒนาจังหวัดในระยะต่อไป