สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม  วัชรประดิษฐ์

พระกริ่ง เป็นพระเครื่องที่คนในวงการพระเครื่อง เชื่อมากันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ “เซียนพระกริ่ง” ยังเชื่อกันอย่างแน่วแน่ว่าสามารถช่วย รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ทุกโรค โดยเฉพาะโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันหา สาเหตุไม่พบ และรักษาด้วยยาไม่ได้ ยามใดที่เกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วย จงอธิษฐานขออำนาจพุทธคุณในพระกริ่ง แล้วนำพระแช่นํ้า จากนั้นก็เอามาดื่มบ้างก็นำมาอาบเพื่อความเป็นสิริมงคล โรคภัยไข้เจ็บป่วยนั้นก็จะหายโดยอัศจรรย์    

                                                                                                          

ประวัติการสร้าง “พระกริ่ง” มีมาแต่โบราณเริ่มขึ้นที่ประเทศทิเบตและจีน จึงเรียกติดปากว่า พระกริ่งทิเบตและพระกริ่งหนองแส พระกริ่งเป็นพระพุทธเจ้าแปลงกายมาช่วยโปรดสัตว์โลกหรือเรียกกันว่า “พระไภสัชคุรุ” เป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายานซึ่งหมายความว่าทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล ต่อมาได้แพร่หลายมาก                                                                                         

พระกริ่งอุบาเก็ง เป็นพระกริ่งของจีนที่มีอายุอ่อนกว่าพระกริ่งใหญ่เล็กน้อย การที่พระกริ่งอุบาเก็งไปปรากฏและค้นพบในประเทศกัมพูชาบนเขา “พนมบาเก็ง” เป็นจำนวนมากนั้น จึงมีชื่อเรียกว่า “พระกริ่งบาเก็ง” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า “คงเป็นพระกริ่งที่ทำจากจีนแล้วนำเข้ามาบรรจุไว้ที่บนเขาพนมบาเก็ง”  นอกจากจะพบพระกริ่งพิมพ์นี้ที่เขมรเป็นจำนวนมาก แล้วยังพบที่เมืองจีนเองก็มีพระกริ่งพิมพ์นี้มาก่อนนานแล้วเหมือนกัน แม้แต่ที่ฮ่องกงก็ยังมีผู้พบเห็นพระกริ่งทิเบต พระกริ่งใหญ่ พระกริ่งอุบาเก็ง และพระกริ่งหนองแส เป็นจำนวนมาก แต่ไม่พบพระกริ่งตั๊กแตนของเขมรรวมอยู่ด้วยเลย นอกจากนี้ยังกล่าวกันว่าระหว่างที่ชาวจีนนำสำเภาขนสินค้ามาขายกับชาวไทยเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระกริ่งใหญ่และพระกริ่งอุบาเก็งก็ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในครั้งนั้นด้วย มีหลักฐานที่ยืนยัน คือ มีผู้พบเห็นพระกริ่งอุบาเก็งที่วัดสมณโกฏฐาราม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่หลายองค์ ยังมีการค้นพบที่จังหวัดลพบุรี และที่วัดปากนํ้าภาษีเจริญถึง 10 องค์อีกด้วย       

                            

พระกริ่งอุบาเก็ง  เป็นพระกริ่งจีนที่สร้างต่อมาจากพระกริ่งใหญ่ อายุประมาณพันกว่าปีขึ้นไป ใกล้เคียงกับพระกริ่งหนองแส ขนาดองค์พระจะเล็กกว่าพระกริ่งใหญ่เล็กน้อย พระกริ่งอุบาเก็ง เป็นพระกริ่งยอดนิยมอันดับรองลงมาจากพระกริ่งใหญ่ ปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง พระกริ่งอุบาเก็ง เป็นพระกริ่งเนื้อสำริดแก่ทองผิวสนิมจะออกเป็นสีนํ้าตาลแก่เหมือนพระกริ่งใหญ่ ก้นฐานบุ๋มเป็นแอ่งกระทะ อุดด้วยทองเหลือง เวลาเขย่าจะมีเสียงดังกังวาน บางองค์ก้นกลวงไม่มีอุด และบางครั้งยังพบกะไหล่ทองคำเคลือบอีกชั้นหนึ่งก็มีโดยเฉพาะด้านหลังขององค์พระ จะต้องมีรอยบุบระหว่างกลางของฐานบัวทั้งสองด้วยทุกองค์                                                                                                                                                

พุทธลักษณะของพระกริ่งอุบาเก็ง พุทธศิลปะเริ่มคลี่คลายจากที่เคยอวบอัด จะมีความอ่อนไหวเพิ่มขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลศิลปะของทิเบตเข้ามาผสมผสานกับศิลปะจีน บัวเริ่มเป็นเม็ดกลม พระพักตร์เรียวยาว พระเนตรอยู่ในระดับฉากแนวนอน ไม่เอียงเฉียงขึ้น เหมือนพระกริ่งใหญ่ และมีจีวรพลิ้วเป็นเส้นเพิ่มอยู่ระหว่างพระเพลา ซึ่งในพระกริ่งใหญ่ไม่มี นอกนั้นพุทธลักษณะต่างๆ โดยรวมของพระกริ่งอุบาเก็งยังสร้างเป็นแบบเดียวกับพระกริ่งใหญ่อยู่

แนวทางในการพิจารณาจุดสังเกตและตำหนิพระกริ่งอุบาเก็ง มีดังต่อไปนี้

1. ด้วยอายุเก่านับพันปีทำให้ผิวพรรณคล้ายพระบูชา มีวิธีการสร้างแบบหล่อเย็น รายละเอียดของพระถูกแต่งในหุ่นเทียน ด้านข้างขององค์พระต้องปรากฎร่องรอยการประกบแม่พิมพ์ทุกองค์                                                                         

2. ปลายพระกรรณด้านซ้ายขององค์พระจะสะบัดมาด้านหน้า

3. ประคำมีลักษณะเป็นเม็ดส่ี่เหลี่ยม                               

4. มีรอยสับเป็นตำหนิในแม่พิมพ์ที่พระชานุ (หัวเข่า) ด้านขวาขององค์พระ        

5.ฐานบัวสองชั้นมีลักษณะคล้ายเลข “ 8 ”     

6.ฐานบัวข้าง ทางด้านซ้ายขององค์พระจะกระดกสูงขึ้นทุกองค์                             

สำหรับทางด้านพุทธคุณนั้นโดดเด่นทางอำนาจ เจริญด้วยลาภ ยศ สักการะ ป้องกันภูตผีปีศาจและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ใช้ทำนํ้ามนต์สำหรับอาบและดื่ม เพื่อบรรเทาและหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงครับผม