ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
คนไทยนั้นรักชาติเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่เมื่อมีภัยภายนอกมารุกราน ก็พร้อมใจกันปกป้องชาติจนสุดชีวิต
ถึง พ.ศ. 2482 ในยุโรปที่เพิ่งจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษและฝรั่งเศสต้องสาละวนต่อสู้กับเยอรมัน ญี่ปุ่นที่กำลังเป็นมหาอำนาจขึ้นมาก็ได้เข้ายึดจีนกับคาบสมุทรเกาหลีไว้ได้ จากนั้นก็ขยายอำนาจไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงคาบสมุทรอินโดจีน ด้วยการสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคนี้แยกตัวออกมาจากอิทธิพลหรือการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยแม้ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสองประเทศนั้น แต่ก็ถูกคุกคามและเสียดินแดนให้กับมหาอำนาจของยุโรปทั้งสองประเทศนั้นไปเป็นจำนวนมากมาตั้งแต่อดีต จึงได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องเอาดินคืน ร่วมกับการใช้กำลังทหารเข้าไปยึดพื้นที่ดินแดนเหล่านั้นคืนมาอีกด้วย โดยเรียกสงครามครั้งนั้นว่า “สงครามอินโดจีน”
ในทางภาคเหนือ เราก็มีดินแดนที่ถูกฝรั่งเศสยึดไป คือบริเวณรัฐไทยใหญ่ตั้งแต่แขวงเมืองเชียงรุ้งลงไปถึงฝั่งขวาของแม่น้ำโขงโดยตลอด คือครึ่งหนึ่งของประเทศลาว ตั้งแต่หลวงพระบางลงไปถึงจำปาสัก รัฐบาลไทยที่ตอนนั้นมีพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี (ยศในขณะนั้นแต่พอจบสงครามอินโดจีนต่อเนื่องไปยังสงครามมหาเอเชียบูรพา ก็ได้สถาปนายศขึ้นเป็นจอมพลในเวลาเพียง 2 ปี) ก็ได้รณรงค์ให้คนไทยร่วมเรียกร้องเอาดินแดนที่ถูกยึดไปคืนมา แล้วก็ใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในดินแดนต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีการต่อต้านอะไรมากนัก ที่สุดไทยก็ได้ดินแดนในหลาย ๆ ส่วนคืนมา (แต่ก็ต้องคืนให้พม่า ลาว และกัมพูชา ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2)
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าเรื่องสงครามในครั้งนั้นอย่างภาคภูมิใจว่า ท่านได้ร่วมรบในสงครามดังกล่าวทั้งสองครั้ง (คือสงครามอินโดจีนกับสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คือสงครามเดียวกันเพราะมีการต่อสู้ต่อเนื่องกันไป จนกระทั่งแผ่ขยายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภูมิภาคนี้) กองทัพที่ท่านสังกัดคือ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งท่านพ่อของท่าน คือพระองค์เจ้าคำรบ เคยเป็นผู้บัญชาการในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่คนทั่วไปเรียกชื่อว่า “กองทัพพายัพ” ตอนนั้นมีหลวงเสรีเรืองฤทธิ์(จำยศทหารตอนนั้นของท่านไม่ได้)เป็นผู้บัญชาการ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ทำหน้าที่เป็น “เกียกกาย” (ท่านเรียกตามตำแหน่งในกองทัพไทยมาแต่โบราณ และใช้กันอยู่ในกองทัพของพระรามและทศกัณฐ์ คือฝ่ายแจกจ่ายสิ่งของ จำพวกอาวุธ เสื้อผ้า และเสบียง ให้แก่เหล่าทหาร) หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า “พลาธิการ”
กำลังพลส่วนใหญ่คือหนุ่ม ๆ ลูกหลานชาวบ้านจากจังหวัดทางภาคเหนือ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองน่าจะเป็น “คนใต้” หรือคนกรุงเทพฯไม่กี่คนที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพ ก็เพราะได้มาทำงานอยู่ที่ทางภาคเหนือนั่นเอง นอกจากนั้นเท่าที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิจำได้ ก็มี “คนดัง ๆ” มาเป็นนายทหารอยู่ในกองทัพพายัพในครั้งด้วย ที่จำได้เพราะต่อมาสองคนนี้ได้เป็นใหญ่เป็นโตถึงนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ตอนนั้นมียศเป็นนายร้อยเอกและนายร้อยโทตามลำดับ (ทั้งนี้มีข่าวเล่าลือกันว่า นายทหารบางคนได้ร่ำรวยจากการไปรบที่ทางภาคเหนือ เพราะไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจมืดบางอย่าง โดยเฉพาะยาเสพติด คือฝิ่นและเฮโรอีน รวมถึงเครือญาติและบริวารของผู้ก่อการในคณะราษฎรบางคน ที่กักตุนข้าวของแลเวชภัณฑ์ไว้ขายแพง ๆ รวมถึงเงินตราและทองคำ)
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้ดูแลเฉพาะการแจกจ่ายข้าวของหรือเวชภัณฑ์ แต่ยังต้องทำหน้าที่เป็น “หมอและจิตแพทย์” ให้กับพลทหารเหล่านั้นอีกด้วย ท่านเล่าว่าทุกวันจะต้องมีทหารที่คิดหนีออกจากกองทัพ เพราะไม่อยากจะทนกับความยากลำบากและความอดอยาก ซึ่งท่านก็จะต้องคอยปลอบใจให้คลายทุกข์ ส่วนหนึ่งก็คือจัดกิจกรรมสังสรรค์และร้องรำทำเพลง ท่านบอกว่าก็ต้องมีการแอบให้ทหารได้ดื่มเหล้าบ้างเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่รื่นเริง รวมถึงที่ปล่อยให้ทหารได้ “ไปเที่ยว” ในตลาดบ้างเมื่อผ่านไปใกล้ชุมชน แต่ก็เกิดปัญหาตามมาอีก คือทหารเหล่านั้นได้เป็นกามโรค จำพวกซิฟิลิสและหนองในเป็นจำนวนมาก ทำให้ท่านต้องมีหน้าที่แจกจ่ายถุงยางอนามัย (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นของใหม่มาก ๆ ในสมัยนั้น) แต่จำนวนของกามโรคก็ไม่ลดลง
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แอบถามทหารที่ป่วยเหล่านั้นว่า ถ้าใช้ถุงยางแล้วทำไมจึงยังติดโรคมาได้อีก ใช้ถูกวิธีไหม ทหารเหล่านั้นก็เฉลยว่าใช้แล้ว แต่เด็ดปลายถุงยาง เพราะ “ถ้าบ่าเด้ด มันกะบ่าเน้ด” (คำเมืองแปลเป็นไทยว่า “ถ้าไม่เด็ดปลายออก ก็ไม่มีรสชาติ”) แต่เมื่อทำถูกวิธีแล้วจำนวนคนป่วยก็ลดลง แต่กระนั้นก็ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งของทหารหนุ่ม ๆ เหล่านี้ คือบางคนพอปล่อยไปในชุมชน ก็ไปเที่ยว “แอ่วสาว” คือจีบสาว ๆ ตามหมู่บ้าน แล้วก็ไปค้างคืนบ้านผู้หญิง ที่ในชุมชนบางแห่งก็มีประเพณีที่ให้หนุ่มสาวคุยกันได้โดยเสรี ทีนี้ก็มีพ่อแม่ของผู้หญิงมาฟ้องว่าทหารทำลูกสาวเขาท้อง บ้างก็ต้องทำขวัญไปตามประเพณี หรือที่รักชอบกันก็ให้ทำพิธี “ผูกข้อมือเอากัน” หรือแต่งงานกันไป แล้วสัญญาว่าเมื่อจบสงครามแล้วจะมารับไปอยู่กินด้วยกันต่อไป อนึ่งในเรื่องการระบาดของกามโรคในกองทัพพายัพนี้ เป็นที่เลื่องลือไปในหมู่ ๆ ทหารและชาวบ้าน ถึงกับมีคนเอาไปแต่งเป็นเพลงร้องกันเล่น ๆ มีท่อนนำตอนขึ้นต้นว่า “กองทัพพายัพทิศ เสรีเรืองฤทธิ์ผู้เกรียงไกร จะไปรบปัจจามิตร แต่ว่าเป็นซิฟิลิส... ไปไม่ได้” (ฮา)
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าอีกว่า แม้ไม่ได้มีการสู้รบฆ่าฟันกันจริง ๆ เพราะไม่มีทหารฝรั่งเศสเหลืออยู่ให้ต่อสู้ จะมีก็แต่ทหารหรือที่จริงน่าจะเรียกว่า “ยามป้องกันหมู่บ้าน” ของพวกคนพื้นเมืองในพื้นที่เหล่านั้นเสียมากกว่า แต่ก็ได้ประสบการณ์จากการไปยึดชุมชนและหมู่บ้าต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายแห่ง เป็นต้นว่า ครั้งหนึ่งไปยึดหมู่บ้านชาวข่าหมุ(หรือขมุ)ที่บนภูเขาทางไปหลวงพระบาง ซึ่งก็ไม่มีการต่อต้าน แต่ระหว่างที่ล้อมหมู่บ้านไว้(เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือมีการต่อต้านหรือไม่)ก็ได้เห็นชายวัยกลางคนหนึ่ง รูปร่างผอม ๆ เล็ก ๆ ตัวดำ ๆ และน่าจะมีอายุพอสมควร นุ่งผ้าเตี่ยวลาย ๆ กรอมเท้า ไม่ใส่เสื้อ เดินออกมา ในมือกำกิ่งไม้ยาวสักครึ่งวา ชูนำหน้าออกมาจากดงข้าวโพดริมหมู่บ้าน ทางฝ่ายกองทัพไทยก็ส่งคนไปถามไถ่ ได้ความว่าเป็น “ทูต” ของ “เมือง” นั้น (ความจริงไม่น่าจะเรียกว่าเมือง เพราะมีแต่บ้านไม้ไผ่มุงหญ้าคาอยู่ไม่กี่สิบหลัง แต่คนพื้นเมืองมักจะเรียกหมู่บ้านเก่า ๆ ว่า เมือง หรือ เวียง) แล้วก็ให้ชาวบ้านขนข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงกองทัพ (เฉพาะที่มายึดหมู่บ้านนี้ก็คงไม่ถึงร้อยคน) หลังจากสงบศึกและเลี้ยงดูกันแล้วก็พูดคุยสารทุกข์สุกดิบกัน สิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์สนใจก็คือ ตอนที่ท่านทูตชูกิ่งไม้เดินเข้ามา ที่ปลายกิ่งไม้มีขนนกหลายสีผูกมาด้วยอย่างสวยงาม และมีพวงพริกสีแดง ๆ ประมาณฟายมือผูกติดมาด้วย ท่านเลยถามว่ามันหมายถึงอะไร ท่านทูตก็ตอบว่า ขนนกคือเกียรติยศหรือการต้อนรับคนสำคัญ ส่วนพริกแดงนั้นคือ “เรื่องด่วน” หรือเรื่องใหญ่ ซึ่งท่านก็เจอกับหมู่บ้านที่สัญลักษณ์แบบนี้อีกหลายหมู่บ้าน และเข้าใจว่า “คนไทย” นั้นเรารัก “สันติภาพ” เป็นอย่างยิ่งทั้งสิ้น
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังเล่าถึง “ความทุกข์ยาก” อันเกิดจากสงครามทั้งสองครั้งนั้นอีกมาก แต่ท่านกลับมองในทางบวกว่า ยิ่งลำบากยิ่งทำให้คนเราแข็งแกร่ง อย่างที่ท่านเคยพูดถึงสุภาษิตฝรั่งบทหนึ่งว่า “Ten scars make a man.” หรือแปลเป็นไทยว่า “สิบแผลสร้างหนึ่งบุรุษ”
สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์น่าจะเจอทุกข์หรือเป็นแผลนับพัน ท่านจึง “กล้าแกร่ง” ในทุกสถานการณ์
ป.ล. ขอแก้ความผิดพลาดของบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่เขียนว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ซื้อที่ดินบน ดอยขุนตานจากพ่อค้าไม้นั้น ที่ถูกต้องคือท่านซื้อจาก “มิชชันนารี” จึงขออภัยมา ณ ที่นี้