ป.ป.ช. สนับสนุนภาคเอกชนใช้กฎหมายความคุ้มครองพยาน และสร้างแรงจูงใจในการแจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านโครงการ “เรียกรับ...เราร้อง”
วันนี้ (8 พฤษภาคม 2568) นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเปิดโครงการ “เรียกรับ...เราร้อง” ที่จัดขึ้นโดยแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไทกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ของภาคเอกชนไทย (CAC) ได้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลเพื่อต่อต้านการทุจริต ในภาคเอกชน ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568 - 2570) โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ซื่อตรง โปร่งใส และยั่งยืน โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว ครอบคลุมประเด็นการส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและสร้างแรงจูงใจในการแจ้งเบาะแสแก่ภาคเอกชน (Whistle Blowing)
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 131 - 135 ได้บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัย แก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแส หรือข้อมูลใด เกี่ยวกับการทุจริต ตลอดถึงการให้ความคุ้มครองการปฏิบัติงานในหน้าที่แก่เจ้าพนักงานของรัฐ ที่ได้ให้ถ้อยคำหรือแจ้งเบาะแสแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย โดยมีระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการคุ้มครองช่วยเหลือพยาน พ.ศ. 2562 เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการผลักดันกฎหมายป้องกันฟ้องปิดปาก เพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงแจ้งเบาะแสการทุจริต ซึ่งมักจะถูกผู้สูญเสียประโยชน์นำกระบวนการยุติธรรม มาเป็นเครื่องมือด้วยการ “ฟ้องปิดปาก” (Strategic Lawsuit Against Public Participation: SLAPP) โดยกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ขณะนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตรวจทานร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
หากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ก็จะเป็นการเพิ่มกลไกการให้ความคุ้มครอง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ให้ถ้อยคำ แจ้งข้อมูลหรือเบาะแสที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากได้กระทำโดยสุจริต และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตให้ได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
โครงการ “เรียกรับ...เราร้อง” ที่จัดขึ้นในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองและสร้างแรงจูงใจในการแจ้งเบาะแสแก่ภาคเอกชน (Whistle Blowing) โดยมุ่งหวังให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกลไกทางกฎหมายที่ให้การปกป้อง คุ้มครอง และยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น