"ม.หอการค้า" คาดเปิดเทอม 68 เงินสะพัด 6.2 หมื่นล้านทุบสถิติ เงินไม่พอเข้าโรงรับจำนำ-กู้เงินให้ลูกเรียน

วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ถือว่ามียอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2553 ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น อย่างไรก็ดีการผลสำรวจดังกล่าว ไม่พบว่าผู้ปกครองลดหรือประหยัดการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน ส่วนใหญ่ตอบว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน และผู้ปกครองไม่ได้ขาดแคลนเงินมากนัก ภาพรวมการใช้จ่ายด้านการศึกษายังไม่ได้หยุดชะงัก

สำหรับความห่วงใยด้านการศึกษาคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะห่วงบุตรหลายในเรื่องการคบเพื่อน และสังคมในโรงเรียนมีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมองว่า การศึกษาไทยน่าจะมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น เพราะคนยังมีความเชื่อมั่นน้อยว่าสถาบันการศึกษาของไทยจะทำให้คุณภาพของนักเรียนโดดเด่นได้เหมือนกับโรงเรียนนานาชาติ

ด้านนางอุมากมล สุนทรรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่าย และผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ซึ่งเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.68 พบว่า ในภาพรวมของการเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ผู้ปกครองมีมูลค่าการใช้จ่ายรวม (เงินสะพัด) 62,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน

โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เกือบ 67% ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม ขณะที่อีกประมาณ 33% ระบุว่า มีไม่เพียงพอ ซึ่งในส่วนของผู้ปกครองที่ระบุว่ามีเงินไม่เพียงพอนั้น ใช้แนวทางการแก้ปัญหาโดยวิธีการนำทรัพย์สินไปจำนำมากที่สุด รองลงมาคือ การกู้เงินในระบบ ตามด้วยการผ่อนชำระค่าเทอมเป็นงวด, การเบิกเงินสดจากบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด, ยืมญาติพี่น้อง, หารายได้เสริม, กู้เงินนอกระบบ และทางเลือกสุดท้าย คือให้บุตรหลานพักการเรียนไว้ก่อน

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสำหรับช่วงเปิดเทอมปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 26,039 บาท โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ 45.6% มองว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมปี 2568 เท่ากับเปิดเทอมปี 2567 รองลงมา ผู้ปกครอง 30.2% มองว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยผู้ปกครอง 4.5% มองว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผู้ปกครอง 19.7% ระบุว่าค่าใช้จ่ายปีนี้น้อยลง

เมื่อถามว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรหลาย มีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้เพิ่มหรือไม่นั้น พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ 41% ตอบว่าไม่มีส่วนให้ก่อหนี้เพิ่ม รองลงมา ผู้ปกครอง 38% ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่ม แต่ไม่ถึง 10% ของยอดหนี้ทั้งหมด โดยมีผู้ปกครองเพียง 0.4% เท่านั้น ที่ตอบว่ามีการก่อหนี้เพิ่มมากว่า 60% ของยอดหนี้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานหรือไม่นั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 56.6% ตอบว่าส่งผลกระทบมาก มีเพียง 8.8% เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่ส่งผลกระทบ

สำหรับความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษานั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 50.1% ตอบว่า มีความสำคัญมาก รองลงมา 43.5% ตอบว่ามีความสำคัญปานกลาง ขณะที่อีก 6.4% ตอบว่ามีความสำคัญน้อย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 47.1% มองว่า กยศ. ช่วยลดภาระผู้ปกครองได้ในระดับปานกลาง รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 43.6% ตอบว่าช่วยได้มาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 3.5% ตอบว่าช่วยไม่ได้เลย

ทั้งนี้บรรดาผู้ปกครองยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบันดังนี้ ปรับปรุงระบบการประเมินผลนักเรียนที่วัดผลในหลายมิติ,ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ให้แต่ละโรงเรียนมีคุณภาพการเรียนการสอนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน,สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนทุน,พัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากล,ปรับการเรียนการสอนให้ดึงดูดความสนใจของนักเรียน,เพิ่มบุคลากรทางการศึกษา

#หอการค้า #เปิดเทอม #ข่าววันนี้ #โรงรับจำนำ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #กยศ