เมื่อวันที่ 7 พ.ค.68  "ไอ ลอว์" หรือ "iLaw" ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "iLaw" โพสต์ข้อความ ระบุว่า ไขข้อสงสัยทำไม DSI ต้องไปสอบเรื่อง สว. ที่อำนาจเจริญ

 หลังณรงค์ เทพเสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานเหตุกรณีที่มีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 
ชวนอ่านข้อสังเกตของไอลอว์ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเลือก สว. 2567 
1. อำนาจเจริญเป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครติด Top 8 เข้ารอบไขว้ระดับประเทศมากที่สุด 
26 มิถุนายน 2567 หลังการเลือกในรอบเลือกกันเองในช่วงเช้าเสร็จสิ้นแล้ว ผู้สมัครจาก 3080 คนทั่วประเทศถูกเลือกให้เหลือเพียง 800 คน จากข้อมูลพบว่ามี 8 จังหวัดที่มีผู้สมัครเข้ารอบไขว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีจำนวนเกาะกลุ่มกันอยู่ที่ 28 - 38 คน ในขณะที่จังหวัดลำดับที่ 9 คือ นครนายก มีผู้สมัครเพียง 19 คนที่เข้าได้รอบไขว้ 
Top 8 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ สตูล อยุธยาฯ เข้ารอบไขว้ด้วยจำนวนที่เท่ากันคือ 38 คน อ่างทอง 37 คน เลย 37 คน “อำนาจเจริญ” 36 คน ยโสธร 34 คน และน้อยที่สุดอยู่ที่สุรินทร์ 28 คน ในขณะที่จังหวัดอื่นอีก 71 จังหวัดทั่วประเทศมีผู้สมัครเข้ารอบไขว้ไม่ถึง 20 คน
โดยจังหวัดอำนาจเจริญมีผู้สมัครเข้ารอบระดับประเทศ 39 คน เมื่อผ่านเข้าสู่รอบไขว้ มีคนเข้ารอบเลือกไขว้ 36 คน ตกรอบเพียง 3 คน โดยมี 2 คนได้ 0 คะแนน ส่วนอีก 1 คน ได้ 1 คะแนน เท่ากับว่าผู้สมัครในจังหวัดอำนาจเจริญ “เกือบ” ทั้งหมดสามารถผ่านเข้ารอบไขว้ได้อย่างง่ายดาย 
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/39719
2. สว. ที่มาจากจังหวัดอำนาจเจริญ 2 คน เป็น “ดาวค้างฟ้า - นอนมาตั้งแต่ระดับจังหวัด”
จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกระดับจังหวัดที่จังหวัดอำนาจเจริญเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 ผลคะแนนเลือกรอบไขว้ของแดง กองมา และ สมพาน พละศักดิ์ พบว่าทั้งสองได้คะแนนนำมาเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยมีคะแนนเท่ากันคือ 8 คะแนน นำโด่งผู้สมัครคนอื่นที่ได้คะแนนเพียงแค่ 3 หรือ 1 คะแนน 
นอกจากนี้เมื่อเข้าสู่การเลือกในระดับประเทศ ทั้งสองยังคงเป็นดาวเด่น โดยในรอบเลือกกันเอง สมพาน ได้คะแนน 31 คะแนน ถือเป็นลำดับที่ 3 จากผู้สมัคร 154 คน ส่วนแดง อยู่ลำดับที่ 6 ได้คะแนน 28 คะแนน 
ส่วนในรอบเลือกไขว้ แดงได้คะแนน 63 คะแนนมาเป็นลำดับที่ 4 ส่วนสมพานได้คะแนน 61 คะแนนมาเป็นลำดับที่ 5 ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนค่าเฉลี่ยของคะแนนในกลุ่ม 10 คือ 17.725 คะแนน 
3. แดง กองมา และสมพาน พละศักดิ์ สว. จากอำนาจเจริญ มาจากกลุ่มเดียวกันและอำเภอเดียวกัน
จากข้อมูลพบว่า แดง และสมพานลงสมัครในพื้นที่และกลุ่มเดียวกัน คือลงสมัครในอำเภอเมืองอำนาจเจริญ และลงสมัครในกลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่น เช่นเดียวกันอีกด้วย 
4. ทั้งแดง กองมา และสมพาน พละศักดิ์ส่อขาดคุณสมบัติเพราะคุณสมบัติไม่ตรงกับกลุ่มที่สมัคร
แดงและสมพาน ลงสมัครในกลุ่ม 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกลุ่ม 9  พ.ร.ป.สวฯ กำหนดให้ กลุ่ม 9 เป็นกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางหรือขนาดย่อม หรือที่เรียกสั้นๆว่า กลุ่ม SMEs เท่ากับว่ากลุ่ม 10 ที่เป็นผู้ประกอบกิจการอื่นที่ไม่ใช่ SME จะต้องมีขนาดใหญ่กว่า อันได้แก่ กิจการผลิตสินค้าที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 500 ล้านบาท กิจการให้บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่มีจำนวนการจ้างงานเกิน 100 คน  หรือมีรายได้ต่อปีเกิน 300 ล้านบาท
โดยแดง ระบุในประวัติใน สว. 5 ว่า “ขายหมูตั้งแต่ปี 2541” ส่วนสมพานระบุเพียงว่า ขายก๋วยเตี๋ยวไก่มะระในเทศบาลเมืองอำนาจเจริญมา 12 ปี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/40267
5. จากข้อมูลเรื่องการ “พลีชีพ” พบว่าผู้สมัคร สว. จากจังหวัดอำนาจเจริญ 12 คนที่มีคะแนนสูงในรอบเลือกกันเอง แต่มามีคะแนนต่ำในรอบเลือกไขว้
จากผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 พบว่ามีผู้สมัคร 146 คน จาก 800 คนที่มีผลคะแนนที่น่าสงสัย คือ ได้คะแนนสูงในรอบเลือกกันเอง โดยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยคือ 21 คะแนน ในขณะที่เมื่อเข้าสู่รอบไขว้ ผู้สมัครเหล่านี้ที่มีคะแนนสูงกลับมีคะแนน “น้อยมาก” โดยอยู่ที่ 0-3 คะแนน เช่น
ไพฑูรย์ พิลาทอง ได้คะแนนในรอบเลือกกันเอง 28 คน ส่วนในรอบไขว้ได้ 1 คะแนน 
จีระสิทธิ์ จันทสิทธิ์ ได้คะแนนสูงถึง 33 คะแนนในรอบเลือกกันเอง ส่วนในรอบเลือกไขว้ได้เพียงแค่ 3 คะแนน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/52202
6. ผู้สมัครจากอำนาจเจริญที่เข้าสู่ระดับประเทศ 39 คน 16 คนลงสมัครในกลุ่มเดียวกัน-จากอำเภอเดียวกันเป็นคู่
-กลุ่ม 2 นักกฎหมาย มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 6 ทำสวนปศุสัตว์ มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 9 ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก SMEs มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการขนาดใหญ่ มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 11 กลุ่มท่องเที่ยว มาจากอำเภอหัวตะพานทั้งสองคน
-กลุ่ม 13 กลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี มาจากอำเภอเมืองอำนาจเจริญทั้งสองคน
-กลุ่ม 15 ผู้สูงอายุ มาจากอำเภอหัวตะพานทั้งสองคน 
และผู้ที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดอำนาจเจริญทั้งห้าคนมาจากอำเภอเมืองทั้งหมด
ทั้งนี้ หากพูดถึงความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองที่ “อาจ” เกี่ยวข้องกับการเลือก สว.แล้วพบว่าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 จังหวัดอำนาจเจริญมี สส. เขตจำนวน 2 คน โดยทั้งสองเขตเลือกตั้งเป็นเขตพรรคภูมิใจไทยชนะขาดทิ้งห่างพรรคอื่นทั้งสอเขต โดยมี สส. ภูมิใจไทยคือ คือ สุขสมรวย วันทนียกุล และญาณีนาถ เข็มนาค