เพื่อสนองแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทุ่มเท เสียสละด้วยมุ่งมั่นที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสที่ดีในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมทุกรูปแบบมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมการ Coaching ผ้าลายพระราชทานและงานหัตถกรรม ประจำปี 2568 จุดดำเนินการที่ 4 ภาคใต้ จังหวัดสงขลา มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงสมาชิกศิลปาชีพ เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมในระดับภาค และระดับประเทศ ต่อไป

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ พร้อมด้วย นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงาน พร้อมคณะทำงานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร.ศรินดา จามรมาน อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิตแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.นวัทตกร อุมาศิลป์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น และสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมด้วย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEATRE (เธียเตอร์) นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ ISSUE (อิชชู่) นายธนาวุฒิ ธนสารวิมล นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ TANDT (ทีแอนที) นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครราชสีมา นางสาวศรุดา กันทะวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมัดย้อมคราม พร้อมด้วยผู้บริหารจังหวัดสงขลา กลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการผ้าและงานหัตถกรรมในพื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมลากูน่า สงขลา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "ด้วยพระปรีชาชาญของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านการออกแบบ หนุนเสริมทำให้สิ่งที่เป็นหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น ทันสมัยขึ้น นับตั้งแต่พระราชทานโครงการตามแนวพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และพระราชทานลายผ้าพระราชทานให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ได้ถักทอ และเมื่อทอเสร็จแล้วทุกส่วน ทั้งส่วนราชการ ภาคส่วนต่าง ๆ และพี่น้องประชาชน ก็ได้ไปอุดหนุน ไปซื้อสวมใส่หลากหลายลวดลาย และล่าสุด คือ ลายสิริราชพัสตราภรณ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระกรุณาให้เชิญคนที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และประสบความสำเร็จในอาชีพ คือ เหล่าดีไซเนอร์ ทั้งด้านการถักทอ การให้สี การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มาร่วมให้องค์ความรู้

ทั้งพระองค์ท่าน ยังทรงเล็งเห็นว่า กระบวนการผลิตผ้าต้องรักษ์โลกด้วย จึงทรงใช้กุศโลบายไม่รับผ้าสีเคมีที่ผู้ประกอบการทูลเกล้าฯ ถวาย พร้อมพระราชทานแนวทางการปรับตัว ด้วยการใช้สีธรรมชาติที่แต่เดิมมีอยู่แล้ว ให้มีมากขึ้นและดีขึ้น เพราะจะเกิดความปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้สวมใส่ และนักวิชาการด้านสีธรรมชาติก็ได้คิดค้นวิธีการทำให้สีเข้มขึ้นและคงทนติดเนื้อผ้าดีขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นทำงานแบบทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที มุ่งส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งงานผ้าและงานหัตถกรรมของพวกเราคนไทยในปัจจุบัน ได้รับความนิยมชมชอบอย่างหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จึงขอฝากให้พวกเราทุกคนได้เร่งพัฒนา และทำให้คุณภาพที่ดีอยู่แล้วดีขึ้นควบคู่การรักษาคุณภาพ เพื่อที่เมื่อเราขายเองในประเทศ เม็ดเงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่ว่าต่างประเทศจะมีแนวนโยบายกระทบต่อภาษีส่งออกอย่างไร ก็จะไม่กระทบต่อประเทศเรา"

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไม่ได้ทรงเล็งเห็นแค่เรื่องผ้าหรืองานหัตถกรรม แต่พระองค์ท่านยังทรงส่งเสริมในเรื่องของศูนย์เรียนรู้ เช่น ดอนกอยโมเดล มีการปลูกพืชผักบริโภคในบ้าน บ้านไหนปลูกผักต่างชนิดกันก็มาแลกกัน เป็นเศรษฐกิจที่เราพึ่งตนเอง ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานไว้ให้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาด หรือเกิดสงครามความยากแค้นใดใด เราก็สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นรากฐานของกรมการพัฒนาชุมชนที่วันนี้เราได้พัฒนาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

"ทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดในทุกหน้าที่ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านได้เข้าสู่รอบระดับภาค รอบรองชนะเลิศ รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งหากใครได้เข้ารอบชิงชนะเลิศถือเป็นที่สุดแล้ว เพราะพระองค์ท่านจะเสด็จเป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการทุกท่าน ไปพบกันในรอบชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ และขอให้ทุกคนช่วยกันปลูกฝังลูกหลาน ไม่ให้จบที่รุ่นเรา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องช่วยกัน สืบสานต่อไป เพื่ออาชีพของคนไทยจะได้มีคนรับช่วงต่ออย่างยั่งยืน"  

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP (Coaching) ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2568 โดยดำเนินการจัดกิจกรรมแล้ว 4 จุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดสงขลา และ จะมีการจัดกิจกรรมในจุดดำเนินการที่ 5 เป็นจุดสุดท้ายที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568