นับเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของ “บิ๊กเนมด้านปฐมวัย” ระดับประเทศ ใน การประชุมวิชาการ “ทำไมเด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้า ป.1” ซึ่งจัดโดย คณะทำงานพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อระดมความคิดเห็นทางวิชาการด้านปฐมวัย จากผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขา นำเสนอข้อมูลสำคัญต่อ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาร่างกฎหมายให้รอบด้าน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ รวมทั้งคำนึงถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อคุณภาพของประเทศในระยะยาว ณ TK Park เซ็นทรัลเวิลด์
วงสนทนาโต๊ะกลมได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ อดีตเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การยูนิเซฟแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ, พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานโครงการบูรณาการพัฒนาเด็กไทย, อาจารย์วิวรรณ สารกิจปรีชา อุปนายก สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ, พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และอดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.วรวรรณ เหมชะญาติ กรรมการบริหารหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง สมาคมนักศิลปะบำบัด ผู้ริเริ่มโปรแกรมศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วย, ดร.อัญจลา จารุมิลินท กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯ, พญ.เบญจพร ตันตสูติ เพจ “เข็นเด็กขึ้นภูเขา” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง สมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
* ระบบ "แพ้คัดออก" = ทารุณกรรมเด็ก *
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ครั้งหนึ่งหมอไปที่ญี่ปุ่นประชุมจิตวิทยาระดับโลก เราพูดถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในขณะที่เด็กเกิดน้อยลงมาก แล้วก็คาดการณ์กันว่าในปี 2573 อัตราแรงงานต่อผู้สูงวัยจะกลายเป็น 2 :1และจะกลายเป็นวิกฤตประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นก็เผชิญในลักษณะนั้น และญี่ปุ่นเองก็อยู่ในโลกของ AI ที่น่าสนใจในการประชุมจิตวิทยาครั้งนั้น ได้เชิญองค์ปาฐกมา 2 คน หนึ่งเป็น “คน” แต่อีกคนคือ “หุ่นยนต์” …. สิ่งที่เราถกกันในเวทีนั้นก็คือ ญี่ปุ่นกำลังส่งสัญญาณอะไรให้กับโลก หรือทิศทางของโลกกับ AI ในอนาคต ซึ่งผมเชื่อว่าประเทศไทยก็จะก้าวสู่โลกของ AI แน่ ญี่ปุ่นส่งสัญญาณให้นักจิตวิทยาทั้งหมดนั่งคุยกันว่าอะไรที่ “มนุษย์” มีเหนือ “หุ่นยนต์” ซึ่งมีอยู่ 5 เรื่องที่ถกกันคือ 1.จินตนาการ 2. จิตสำนึก 3.คุณธรรม 4. ความรัก (สายใจรัก) และ 5. แรงบันดาลใจ
เราวิเคราะห์กันว่า “ระบบแพ้คัดออก” ในช่วงชั้นปฐมวัย ไม่มีทางที่จำทำให้เกิด 5 ข้อ นี้ จินตนาการจะไม่เกิดขึ้นแต่จะกลายเป็นเกิดการเรียนรู้แบบท่องจำ เราพูดถึงจิตสำนึกและคุณธรรมแต่เกิดการปลูกฝังความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เด็กยังเล็กๆที่เป็นเด็กปฐมวัยด้วยซ้ำไป เรื่องของจิตสำนึก จิตอาสา จิตสาธารณะหรือคุณธรรม รวมถึงความรักที่เทไปให้จนกลายเป็นลักษณะวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยม ตัวชี้วัดแบบง่ายๆ ที่เราจะเห็นว่าเด็กๆวันนี้สักกี่คนทั้งประเทศ พร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบากในขั้นพื้นฐาน เพราะทุกวันนี้แม้แต่เช็ด ปัดกวาด ถูบ้าน ซักผ้า ก็กลายเป็นเรื่องเสียเวลา เพราะเด็กจะต้องติวเข้มไปกับการเรียนหนังสือ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องไม่สามารถทำได้ … ความรักที่ปรนปรอไปในลักษณะวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมสวนทางกับที่นักจิตวิทยาถกกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยแต่เป็นทั้งโลก
แม้แต่แรงบันดาลใจในข้อสุดท้าย ซึ่งต้องใช้คำว่ามนุษย์มีเหนือหุ่นยนต์ แต่ความจริงหากเราพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีสเป็กเหมือนกันเป๊ะผมว่าก็ไม่แตกต่าง … แต่ .. ทำไมมนุษย์จึงมีความแตกต่างกับหุ่นยนต์ เพราะมนุษย์มีก๊อกสองคือ “แรงบันดาลใจ” หรือ “ศรัทธา” … คำถามคือระบบแบบแพ้คัดออกตอบอะไรกับศรัทธา ในเมื่อระบบแพ้คัดออกกำลังทำลายศรัทธาด้วยซ้ำ ทำลายแรงบันดาลใจ และกำลังแปลงแรงบันดาลใจให้เป็น “แรงกดดัน”
ระบบแพ้คัดออกในช่วงชั้นปฐมวัยไม่เหมาะแม้แต่พัฒนาการ เราวิเคราะห์มาตั้งแต่กลไลทางจิต เวลาคนเราเกิดความเครียดขึ้นมาก็จะต้องจัดการกับความตึงเครียด ซึ่ง “กล่องเครื่องมือ” ลักษณะนี้สำหรับเด็กกำลังพัฒนา .. ขอโทษที่จะบอกว่า บางกล่องเครื่องมือนี้อยู่ในช่วงชั้นที่กำลังเร่งประเด็นสอบเข้า ป.1 ซึ่งผู้ใหญ่ได้ใส่แรงกดดันเข้าไป ตั้งแต่เครื่องมือยังพัฒนาไม่เสร็จเลย
หัวใจของการพัฒนามนุษยชาติ คือ "การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์" การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์มี 2 มิติ คือทำให้เขาขึ้นมาเป็น "คนเก่ง มีสมรรถนะในการแข่งขัน" แต่ต้อง คู่ขนานไปกับ "มีจิตสำนึกและคุณธรรม" อันที่จริงต้องบอกว่าคุณธรรมและจิตสำนึกเป็นพื้นฐานที่ต้องพัฒนาในช่วงชั้นปฐมวัยขึ้นมาก่อน และถ้าพัฒนาขึ้นมาแล้ว ความเก่งต่างๆก็ตามมา แต่ในระบบแพ้คัดออกไม่ได้พัฒนาอีกมิติหนึ่งซึ่งก็คือคุณธรรม เด็กอาจจะเก่ง มีสมรรถนะในการแข่ง แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องเอื้ออาทร เพราะฉะนั้นในระบบแบบแพ้คัดออกในหลายประเทศ รวมไปถึงในหมู่นักวิชาการ จึงมีข้อสรุปไว้ในหมู่หมอเด็กกันเองว่า ระบบแพ้คัดออกในช่วงชั้นปฐมวัย เป็นการ “ทารุณกรรมเด็ก”
* เน้น “สมรรถนะ” มากกว่า “แพ้คัดออก” *
เกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ … (พ.ร.บ.ปฐมวัย) ที่จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ใน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่แม้คณะรัฐมนตรี (ตามมติวันที่ 24 ตุลาคม 2561) ได้อนุมัติหลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของหน่วยงานต่างๆไปประกอบการพิจารณา จากนั้นจึงจะส่งให้คณะกรรมธิการวิสามัญที่ สนช. แต่งตั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไปนั้น ประเด็น “การยกเลิกการสอบเข้า ป.1” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาระที่สำคัญที่สุดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังเป็นที่กังวลของผู้ทรงคุณวุฒิ โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ปฐมวัย ถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับแรกของประเทศไทย หัวใจที่สำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กล่าวถึง 3 สิ่งที่นำมาบูรณาการกัน ไม่ใช่แค่การจัดการศึกษาเท่านั้น แต่ยังดูแลในเรื่องของสุขภาวะ จนถึงการได้รับการปกป้องสิทธิ กล่าวโดยสรุปคือ ดูแลและให้เกิดพัฒนาการจากการเรียนรู้
พ.ร.บ.ปฐมวัย ต่างกับ “พ.ร.บ.การศึกษา” คือในพ.ร.บ.การศึกษาจะเน้นในมิติของการศึกษา แต่พ.ร.บ.ปฐมวัย ที่ว่ากันตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงแรกคลอดไปจนอายุ 6 ปี หรือไปจนถึงช่วงรอยต่อถึง 8 ปี มีทั้งมิติของสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีหลายหน่วยงานดูแล เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย จึงเป็นการบูรณการทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ผู้ทรงวุฒิทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการฝ่ายการศึกษาและฝ่ายสุขภาพ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบแพ้คัดออกในช่วงชั้นปฐมวัยเป็นสิ่งไม่เหมาะสม กระบวนการที่จะได้มาของโรงเรียนยอดนิยมควรหาวิธีการอื่นมากกว่าระบบแพ้คัดออก ซึ่งมาตรานี้ต้องยอมรับว่าอาจจะต้องไปดูใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เรามีการแก้ไขให้เข้ากับเจตนารมณ์เดิม คือตั้งแต่ฉบับที่เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปแล้ว แต่ต่อมามีการแปรรูปนิดหน่อยในชั้นกฤษฎีกา จึงทำให้มาตรานี้บางลง ซึ่งผมก็เชื่อมั่นว่า สนช. ท่านก็คงเห็นใจเด็กๆทุกคน
ประเด็นที่ถูกแปรเปลี่ยนให้บางลงนั้นมีอยู่สองสามจุดคือ เวลาที่เราพูดถึงเด็กเล็กๆ เรื่องของ “สิทธิเด็ก” ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กควรจะได้รับการดูแล เพราะเป็นหลักสากลของโลกว่าด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็ก เดิมจะมีมาตรา 4 ที่พูดถึงการ “มุ่งที่สมรรถนะ ไม่ใช้ระบบแพ้คัดออก” ซึ่งตรงนี้ถ้ามีการแปรรูปก่อนที่จะเข้า สนช. จะทำให้ประเด็นนี้อ่อนลง ประเด็นถัดมาคือ “การบูรณาการ” เป็นจุดที่อ่อนไหวมาตลอด ไม่ว่ากี่ปีตลอดที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าในช่วงของปฐมวัยไม่มีเจ้าภาพ กลไกลในการติดตามช่วยกันในการดูแลจึงมีแต่ประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มี พ.ร.บ.ปฐมวัย ขึ้นมา เพราะฉะนั้นผู้ที่จะช่วยบูรณาการประสานความเชื่อมโยงคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกธาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ประเด็นสุดท้ายแม้จะเป็นประเด็นเล็กๆ แต่ถือว่ามีความสำคัญคือเรื่องของ “อายุเด็ก” โดยยูเนสโก้ได้พูดถึงเรื่องปฐมวัยตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงอายุ 8 ปี อันนี้ถ้าเราให้น้ำหนักจะอยู่จุดไหนก็ไม่เป็นไร ซึ่งในพ.ร.บ.ปฐมวัย จะกำหนดไว้ถึงแค่อายุ 6 ปี โดยขณะนี้ไม่ได้เป็นข้อขัดข้อง แต่สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไร ที่จะส่งสัญญาณให้ทุกคนได้รู้ว่า ช่วงรอยต่อของอายุ 6-8 ปี ที่แต่ละคนที่รับผิดชอบนั้น จะต้องนึกถึงหัวใจของปฐมวัย มุ่งเน้น “สมรรถนะ” มากกว่า “แพ้คัดออก”
... ความหวังสูงสุดของ "วัยอนุบาล" คงไม่ได้สิ้นสุดหยุดอยู่ที่ พ.ร.บ.ปฐมวัย เท่านั้น หากแต่การแก้ไข ปรับปรุง ระบบการศึกษาในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม และการปรับแนวคิดของการคัดเลือกเด็กปฐมวัยเข้าสู่ระบบการศึกษา นับเป็นอีกเรื่องสำคัญและท้าทายในสังคมไทยวันนี้ ...