วันที่ 6 พ.ค.68 ที่กองอำนวยการร่วม ศูนย์การค้า เจเจมอลล์ เขตจตุจักร นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการค้นหาผู้ติดค้าง และรื้อถอนซากอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตจตุจักร ว่า วันนี้สามารถเปิดพื้นที่อาคาร สตง. ที่พังถล่มได้ถึงบริเวณชั้นใต้ดินได้ครบหมดแล้ว เหลือเพียงบริเวณที่ล้มถล่มไปด้านข้างบริเวณที่เป็นจุดทางเชื่อมกับอาคารจอดรถ บริเวณ โซน B2 B3 ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งรื้อถอน โดยจะเป็นการทำงานที่บริเวณชั้น 1 ที่ต้องทำงานอย่างระมัดระวังเนื่องจากการใช้เครื่องจักรหนักอาจเพิ่มน้ำหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุพื้นยุบ ทรุดตัวได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จะสามารถเคลียร์พื้นที่ได้ทั้งหมด ส่วนด้านการค้นหา ตลอดการปฏิบัติงานทั้งวานนี้ ไม่พบผู้ติดค้างในเศษซากอาคารที่เหลืออยู่ แต่ต้องรอฟังผลการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลของชิ้นส่วนมนุษย์กว่า 200 ชิ้น ที่ได้ส่งให้สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ นำไปตรวจสอบ ว่าใช่ผู้สูญหายที่ยังอยู่ระหว่างการค้นหาหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และต้องรอการยืนยันผลอีกครั้งในภายหลัง
จากนั้น ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่บริเวณชั้นใต้ดินที่ได้มีการรื้อถอนไปแล้วเมื่อวานนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าในสถานที่จริง
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้บัญชาการควบคุมการปฏิบัติเกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร (ICP: Incident Command Post) กล่าวว่า ลักษณะของอาคารที่ถล่มเป็นอาคารสูง 30 ชั้น มีพื้นที่รวม 40×40 เมตร หรือประมาณ 50,000 ตารางเมตร มีลิฟต์ 10 ตัว และหลังจากเกิดเหตุการณ์ถล่มแล้ว โครงสร้างอาคารมีการลาดเอียงไปทางด้านหลัง ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับอาคารจอดรถ คาดการณ์ว่าช่วงระหว่างที่ถล่มนั้นอาจมีคนวิ่งเข้ามาหาในส่วนของอาคารจอดรถด้วย จึงยังคงต้องมีการค้นหาในบริเวณนี้ต่อจนกว่าจะเคลียร์พื้นที่ได้แบบแล้วเสร็จ 100% ซึ่งจากการจำลองการหนีของคนส่วนใหญ่ของทุกชั้นจะวิ่งมาหาบันไดที่เป็นบันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นจุดเดียวของอาคารที่เชื่อมระหว่างอาคาร 30 ชั้นกับอาคารจอดรถยนต์ จึงอาจมีผู้ติดค้างติดอยู่บริเวณเศษซากอาคารที่ถล่มลงมาในบริเวณจุดเชื่อมได้ ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่พื้นที่ที่พบผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในโซน C ตรงจุดที่คาดว่าเป็นช่วงบันไดหนีไฟ จึงคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 วันจะค้นหาบริเวณชั้นใต้ดินแล้วเสร็จ และภายใน 4-5 วัน จึงจะแล้วเสร็จภารกิจ โดยในเบื้องต้นจะพยายามให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
"ภารกิจในครั้งนี้มีเครื่องจักรร่วมสนับสนุนการดำเนินการทั้งหมดกว่า 80 เครื่อง ขนวัสดุออกวันละ 300 เที่ยว การดำเนินงานในแต่ละวันค่อนข้างมีอุปสรรค มีการวางแผนงานการประชุม 9 โมงเช้าและ 6 โมงเย็นทุกวัน และหน้างานอาจมีปัญหาที่ต้องวางแผนแก้ไขในแต่ละวันไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนที่เข้ามาก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ในการค้นหาผู้สูญหาย และตลอดเวลาที่ผ่านมาเครื่องจักรต่าง ๆ มีการทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อที่จะเร่งค้นหาร่างของผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก ซึ่งการทำงานของเครื่องจักรทุกคันในวันนี้จะเน้นไปที่การทำงานบริเวณชั้นใต้ดินทั้งหมด" นายไทวุฒิ กล่าว
ปัจจุบัน จากข้อมูลที่ได้รับการยืนยันโดยสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ หน้ากองอำนวยการ ข้อมูล ณ เวลา 18:00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 87 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และอยู่ระหว่างการติดตามอีก 13 ราย จากผู้ประสบเหตุทั้งหมด 109 ราย