วันที่ 6 พ.ค.2568 เวลา 09.40 น.ที่รัฐสภา นายอลงกต วรกี สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ติดตาม การบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของรัฐสภา โดยเฉพาะประเด็นศาลาแก้ว โดยนายอลงกต ถามกลับว่า ศาลาแก้วมีตั้งแต่เมื่อไหร่ โครงสร้างที่มีกระจกมีตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมตอนนั้นไม่มีการตั้งคำถามในเรื่องนี้ พร้อมกล่าวว่าวุฒิสภา ไม่มีอำนาจเพิ่มงบประมาณแน่นอน ทำได้เพียงตัดทอนการใช้จ่ายงบประมาณ ถ้าดูแล้วไม่มีความจำเป็น ก็คงจะตัดงบ แต่ตนตั้งคำถามว่า ถ้าตัดโครงสร้างนี้ไปแล้ว ศาลาจะใช้ได้หรือไม่ หรือจะไม่ใช้เลย ต้องถามสังคมว่า ควรจะเอาศาลานี้ทิ้งใช่หรือไม่ หรือจะให้หลังคานี้มีโครงสร้างทึบ เพื่อให้ไม่ร้อน และสามารถใช้งานได้ หากปรับเปลี่ยนให้สามารถใช้งานได้ ตนคิดว่าคงไม่ถึง 100 ล้านบาท
“ถ้าเป็นบ้านผม อาจจะเปลี่ยนแค่หลังคากระจก ให้เป็นหลังคาทึบหรือเป็นหลังคากระเบื้อง หรือเอาเมทัลชีทมาติด แต่มันจะน่าเกลียดหรือเปล่า สำหรับสัปยะสภาสถาน” นายอลงกต กล่าว
นายอลงกต กล่าวต่อว่า สังคมต้องการอะไรหรือจะให้ยุบไปเลย พร้อมกับถามสื่อมวลชนว่า “น้องต้องการแบบไหน” นิยามคำว่าปรับปรุง คืออะไร ตนตั้งข้อสังเกตว่า ถึงขั้นต้องยุบศาลา ถ้ารื้อไม่มีประโยชน์อะไร จะให้ไปทำอะไรต่อ ตนพูดให้สมประโยชน์ ถ้าในเชิงปฏิบัติ แค่เปลี่ยนหลังคาอาจจะไม่ถึงร้อยล้านบาท หรือ 1 ล้านบาทด้วยซ้ำไป หากรื้อออกไปยิ่งสิ้นเปลือง โครงสร้างเดิมมันรับกับกระจก จะมีการเปลี่ยนตัวโครงสร้างที่รองรับกระจกหรือไม่ ส่วนกรณีสระมรกต ต้องถามว่าสมประโยชน์หรือไม่ ในการใช้ประโยชน์ ถ้าไม่มีประโยชน์และไม่มีที่มาชัดเจน ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แล้ว แต่ สว. เราคงไม่มีหน้าที่ไปเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณ
เมื่อถามว่า ยังมีโรงหนัง 4D แม้จะถูกชี้แจงแล้วว่าเป็นห้องสาระสนเทศ แต่คุ้มค่าหรือไม่ นายอลงกต กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่สามารถตอบได้ แต่ตนมีคำถามว่า ตอนนี้เราสัมมนากันอย่างไร ขอถาม น้องนักข่าวว่า ห้องใช้พอหรือไม่ ทั้งนี้ในระหว่างนั้นมี สว. ที่อยู่ข้างหลังนายอลงกต กระซิบว่า “ไม่พอ” ตนไม่สามารถตอบได้ ต้องถามว่า เวลาสัมมนาไปใช้สถานที่ข้างนอกในโรงแรม หรือที่สภา เหมาะสมกว่า สำนักงานเลขารัฐสภา ทั้งฝั่ง สส. และฝั่ง สว. ต้องตอบคำถามในเรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานข้างล่างเสนอขึ้นมา สว. ไม่มีหน้าที่พิจารณา ทำได้เพียงตัดเท่านั้น
เมื่อถามย้ำว่า ในเอกสารของงบประมาณเขียนชัดว่าเป็น 4D นายอลงกต ถามกลับว่า สภายังมีที่ว่างอีกเยอะหรือไม่ ตนยังเดินไม่ทั่วเลย ต่อข้อถามว่ามีคนตั้งคำถามว่าสภาใช้งานมา 5 ปีแล้ว มาขอปรับปรุงยังไม่คุ้มค่าใช่หรือไม่ นายอลงกต กล่าวว่า เมื่อก่อนยังไม่เป็น สว. ตนผ่านสภาฯ คิดว่าเป็นวัด ยกมือไหว้ตลอด แต่คำถาม คือ รัฐสภา เป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคมหรือไม่ ต้องให้น้ำหนักกันระหว่าง 2 เรื่อง คือ ความสวยงาม เชิดหน้าชูตา กับการใช้ประโยชน์ ต้องให้สังคมพิจารณาเอาเอง บางทีสวยงามแต่บางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น สระมรกต มันขึ้นอยู่กับที่ข้างล่างพิจารณา
“ตอนนี้เศรษฐกิจแย่มาก พวกคุณรับสภาพกันอยู่ใช่หรือไม่ ผมเห็นด้วยกับหลักการของหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านฯ ที่ควรจะตัดงบประมาณบางอย่าง ที่ไม่จำเป็นออกไป ความเห็นของผมส่วนตัว ปีนี้ไม่ใช้ได้หรือไม่ ค่อยใช้ปีหน้า เศรษฐกิจดีแล้วค่อยว่ากัน เพราะตอนนี้เรียนตามตรงว่า เศรษฐกิจแย่มาก เพื่อนของผมบางคน 4-5 เดือน ยังไม่ได้รับเงินเดือนก็มีแล้ว ไม่จ่ายเงินให้พนักงานก็มี จึงเห็นด้วยกับหัวหน้าฝ่ายค้านฯ“ นายอลงกต กล่าว
เมื่อถามว่างบของวุฒิสภาก็ถูกวิจารณ์เหมือนกัน คือ งบประมาณเรียนภาษาจีน นายอลงกต ชี้แจงว่า เรื่องนี้ตนไปตรวจสอบว่า งบกว่า 2 ล้านบาท เกิดจากอะไร ยืนยันว่าไม่ได้เป็นงบที่ไปดูงาน โครงการนี้มี สว. มาเรียนเกือบ 50 ท่าน อาจจะเป็น เรื่องค่าน้ำชา กาแฟ และค่าวิทยากร แต่การไปดูงานที่ประเทศจีนไม่ได้ไปทุกคน ไปเพียงผู้ที่มีเกณฑ์การเรียนดี 10 คนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจีนเชิญผ่านสถาบันขงจื๊อ ให้ไปดูงาน โดยมีการออกค่าที่พัก ค่าอาหาร แต่ สว.ต้องเสียค่าเครื่องบินเอง
”งบ 2 ล้าน ไปต่างประเทศ ไม่มีเลย มีแต่เอาคนเรียนเก่ง 10 คน ซึ่งรวมทั้งผมด้วย ที่ได้คะแนนเรียนดี รัฐบาลจีนจึงมีหนังสือเชิญมา งบ 2 ล้าน ที่มีอยู่ เป็นเพียงเฉพาะค่าอบรม ที่อยู่ในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเท่านั้น ผมก็กำลังตรวจสอบว่า ทำไมใช้งบเยอะ ที่จำได้เราเรียนประมาณ 3-4 เดือน เดาว่าน่าจะเป็นค่าวิทยากร“ นายอลงกต กล่าว และสว. ที่เรียนภาษาจีนตอนแรกมี 50 ท่าน เรียนไปเรียนมาเหลือ 20 ท่าน มีตนนี่แหละที่เรียนดี คนหมู่มาก เหลือคนหมู่น้อย และเหลือเพียงคนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม
เมื่อถามว่าทำไมไม่ให้เจ้าหน้าที่สภาเรียนแทน นายอลงกต กล่าวว่า ตนก็ถามไปเหมือนกัน ได้รับคำตอบว่า ถ้าเอาเจ้าหน้าที่สภาเรียน มันจะกลายเป็นว่ามาเรียนในเวลาราชการ ซึ่งการให้ สว.เรียน บางคนก็ไม่ได้มาครบทุกวัน เพราะติดประชุมกรรมาธิการ
“ที่น่าสนใจ คือฝั่งข้าราชการมีสอบภาษาอังกฤษ ทำไมไม่เอา สว. มาสอบภาษาอังกฤษบ้าง ผมก็อยากสอบเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของข้าราชการประจำ คนละสไตล์ เขาไม่สามารถมาอบรมภาษาจีนได้ เพราะมันอยู่ในเวลาราชการ แต่ของกรณี สว. อยากไปสอบภาษาอังกฤษ แต่เขาให้แค่ข้าราชการประจำ เหมือนกับ X-Y ไม่ปนกัน” นายอลงกต กล่าว