สรวงศ์ ลั่น อยากเห็นเวทีถกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ ชี้ คนเข้าร่วมต้องไม่ไบแอสมีธง บอก อย่าปิดกั้นโอกาสประเทศ ด้าน เพื่อไทย ยันไม่กังวลศาลนัดไต่สวน ทักษิณ ปมรักษาตัวชั้น 14 เชื่อฝ่ายกฎหมายชี้แจงได้ ขณะที่โพล 6 เดือน ตีปี๊บผลงาน นายกฯแพทองธาร ประชาชนชื่นชมมาถูกทาง ชี้โหวตให้ 30 บาท รักษาทุกที่ นำโด่งคนพอใจมากสุด
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าการให้ส.ส.ลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า จากการลงพื้นที่ของส.ส.ส่วนมากประชาชนไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ไม่มีอะไรที่ไม่เข้าใจ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะทำคือมีเวทีหรืออะไรต่างๆ ที่ทำให้มีการทำความเข้าใจมากขึ้น ให้คนที่เขาคิดอีกอย่างหนึ่งกับรัฐบาลเข้ามาพูดคุยกันทำความเข้าใจกันว่าทำไมถึงต้องมีกฎหมายนี้เพื่อเปิดโอกาสดึงดูดนักลงทุนเข้ามา ย้ำว่า ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะทำบ่อนกาสิโน ฉะนั้น ต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อน
ทั้งนี้ กาสิโนต้องมีเพียงแค่ 10% เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปได้ เพราะต้องมีมาตรการป้องกัน หากครอบครัวไหน ไม่อยากให้คนในครอบครัวเข้าไปเล่นสามารถยื่นโนติสได้ และมีมาตรการป้องกันการฟอกเงินที่เป็นสากลรองรับ สำหรับพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีอีเวนต์ตามฮอลล์ต่างๆ ศูนย์ประชุม ห้างสรรพสินค้า โรงแรมต่างๆ พื้นที่โดยรอบจะได้ประโยชน์ไปด้วย โดยเวทีที่เราอยากเห็นคือการพูดถึงข้อดีข้อเสีย พูดคุยกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ว่าฝั่งหนึ่งมีธง อีกฝั่งมีธงมาชนกัน หากเป็นเช่นนั้นจะไม่มีประโยชน์ที่จะพูดคุย ถ้าคิดดูดีๆ ประเทศไทยเสียโอกาสไปกับเรื่องแบบนี้เยอะมาก จึงขออย่าปิดกั้นโอกาสของประเทศไทยอีก เพราะว่าเราสู้เขาไม่ได้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศแม้กระทั่งประเทศที่เป็นศาสนาอิสลามเขาก็มีกัน แต่เขาก็ห้ามคนของเขาเข้า เราก็ห้ามคนของเราเข้าได้ ไม่มีปัญหา นายสรวงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่า เวทีที่จะจัดเจ้าภาพจะเป็นภาควิชาการ หรือรัฐบาล นายสรวงศ์ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพจะถูกมองว่าเรามีธง จึงอยากให้คนกลางจัดหรือนักวิชาการจัดก็ได้ แต่รัฐบาลมีคนที่พร้อมร่วมเวทีเพื่อไปชี้แจง แต่ต้องมีนักวิชาการที่เป็นกลาง ไม่ใช่ไบแอสไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพราะอยากให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าแต่ละคนมีธงมาแล้ว ไม่ยอมซึ่งกันและกัน ไม่เอาแบบนั้น รัฐบาลเองก็อยากที่จะฟังเหมือนกันว่า ความคิดของพวกเขาคืออะไร ทำไมจึงไม่อยากให้มี ทำไมจึงมีไม่ได้ ได้ฟังหรือไม่ว่าข้อกำหนดหรือรายละเอียดของกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง ตนรับประกันได้ว่าคนที่ออกมาต่อต้านมีไม่ถึง 10% ที่ได้อ่านร่างกฎหมายตัวนี้ แต่นักวิชาการและก็แกนนำก็น่าจะได้อ่านร่างกฎหมายดังกล่าว
ด้าน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งองค์คณะไต่สวนการบังคับโทษจำคุกของนายทักษิณ ที่ไปรักษาตัวในชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยจะมีการไต่สวนวันที่ 13 มิถุนายนนี้ ว่า เชื่อว่าฝ่ายกฎหมายของนายทักษิณคงชี้แจงได้ ซึ่งในพรรคไม่ได้มีใครคุยกันเรื่องนี้และไม่มีใครกังวลอะไร
เมื่อถามว่า พรรค พท.ได้มีการพูดคุยกันนอกรอบบ้างหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะนี่เป็นเรื่องของนายทักษิณที่ต้องมีทีมกฎหมาย
ส่วน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ปราศรัยช่วยผู้สมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น โดยประกาศว่าอีก 9 ปีจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของประเทศไทยว่า นายพิธาต้องประกาศเช่นนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อประกาศแล้วและไปย้อนดูสิ่งที่ประกาศ มีกี่อันที่ประกาศแล้วสามารถทำได้จริง ทำได้สำเร็จ เช่นเดียวกับการที่บอกว่าอีก 9 ปีจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราต้องดูว่าข้อเท็จจริงสามารถกลับมาได้หรือไม่ มีข้อกฎหมายรายละเอียดแต่ละคดีที่เกี่ยวข้องกับนายพิธามีอะไรบ้าง มูลเหตุของความผิดที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีสามารถกลับมาได้หรือไม่
"ต้องไปตรวจดูด้วย เพราะไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ประกาศจะเป็นความจริงทั้งหมด ต้องเข้าใจว่าบางครั้งบนเวทีก็ต้องพูดไป แต่ประชาชนต้องพินิจพิเคราะห์ด้วยว่าที่ประกาศเรื่องนี้ว่าอีก 9 ปีจะกลับมา เขากลับมาได้จริงหรือไม่ และต้องย้อนไปดูพฤติกรรมอื่นๆที่เคยประกาศก่อนหน้านี้เคยทำได้สำเร็จหรือทำได้จริงหรือไม่"นายอนุสรณ์กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า มองว่าอีก 9 ปีนายพิธาสามารถกลับมาได้จริงหรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า วันนี้ต้องยอมรับว่าการเมืองในแต่ละช่วงสถานการณ์และในแต่ละวันมีพัฒนาการไปแต่ละวันอยู่แล้ว ฉะนั้นวันนี้จะบอกว่าอีก 9 ปีจะกลับมา ฟังแล้วเหมือนแช่แข็งประเทศเพื่อรอใครบางคน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะในสถานการณ์การเมืองก็ต้องพัฒนาไป แต่การแก้ไขปัญหาก็ต้องเดินหน้าไป ถึงวันนั้นสถานการณ์ทางการเมืองอาจจะไม่ได้เป็นแบบในอดีต เพราะจากวันเลือกตั้งปี 2566 จนถึงปัจจุบันการเมืองไทยเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในมิติที่เราได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ได้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นนายกฯ ก็พยายามขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ดังนั้น เมื่อน.ส.แพทองธาร อยู่ครบวาระ 4 ปี และไปต่อมีการเลือกตั้งครั้งหน้า ถึงวันนั้นบริบทและสถานการณ์ทางการเมืองอาจเปลี่ยนไปก็ได้
วันเดียวกัน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ครบ 6 เดือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศพบว่า ประเด็น ความพึงพอใจในนโยบาย/มาตรการ/โครงการของรัฐบาล ในระดับมากที่สุด-มาก ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ร้อยละ 71.6 และ 2.โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินหมื่นร้อยละ 55.8 3.กฎหมายสมรสเท่าเทียม ร้อยละ 41.3 และ 4.การลดภาระ ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า -พลังงานแก่ประชาชน ร้อยละ 32.6 และ 5. การส่งเสริมการท่องเที่ยวร้อยละ 30.3
เมื่อพิจารณาความพึงพอใจต่อผลงานรัฐบาลจำแนกเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)ยังมีสัดส่วนสูงที่ร้อยละ 40.1 รองมาคือ ภาคเหนือ ที่ร้อยละ 28.5 ภาคกลาง ร้อยละ 24.7 ภาคใต้ ร้อยละ 20.1 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 14.7 และเมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มอายุพบว่าประชาชนในกลุ่มอายุตั้งแต่ 60ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจพอใจฯ ในระดับมาก - มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ร้อยละ 31.5
"ในส่วนของการให้บริการของภาครัฐ ยังพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของภาครัฐในระดับมาก - มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไฟฟ้าร้อยละ 66 น้ำประปา ร้อยละ 59.7 ถนนหนทาง ร้อยละ 55.1 การบริการสาธารณสุข ร้อยละ 52.2 และการจัดเก็บขยะมูลฝอย ร้อยละ 46.4
นายจิรายุ กล่าวต่อไป ว่าจากผลสำรวจพบเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ การควบคุมราคาสินค้าอุปโภค -บริโภคร้อยละ 86.7 รองลงมาได้แก่ ลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา น้ำมันเชื้อเชื้อเพลิง อยากให้ทำต่อเนื่อง ร้อยละ 67.5 การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 43.0 การแก้ปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 35.5 และเพิ่มสวัสดิการเช่น เงินผู้มีรายได้น้อย การรักษาพยาบาลการศึกษา ร้อยละ 30.3 สำหรับในช่องทาง ที่ประชาชนสนใจติดตาม/รับรู้ฯมากที่สุดยังเป็นทางโทรทัศน์ ร้อยละ 68.4 รองลงมาได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ติ๊กต๊อก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ร้อยละ 59.6 และญาติ/หรือคนรู้จัก ร้อยละ 16.9
ทั้งนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันอังคารที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมาที่จังหวัดนครพนม สำนักงานสถิติ ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย และสั่งการไว้ในหลายประเด็น เช่น "โครงการคุณสู้ เราช่วย" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม2567-18 มีนาคม 2568 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 1.3 ล้านบัญชี การแก้ปัญหายาเสพติดใน "โครงการท่าวังผาโมเดล และธวัชบุรีโมเดล" มุ่งสู่จังหวัดสีขาว เพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติด (Re X-Ray) ดำเนินการ Re X-Ray ได้ 1,066,407 ราย (จากเป้าหมาย 4,112,206 ราย) (ข้อมูล ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568) ตลอดจนการจัดสวัสดิการสังคม เช่น การดำเนินโครงการบ้านเพื่อคนไทยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 250,033 ราย ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติการกู้สินเชื่อ (Pre-Approve) จำนวน 135,678 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568 และสามารถเข้าพักอาศัยได้ในปี 2570