วันที่ 4 พ.ค.68 ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุกส่วนตัว ระบุว่า 

“ดีลลับ” กับสหรัฐฯ เรื่องภาษี...คำพูดที่ไม่ควรมองข้ามของนายกฯ แพทองธาร

ท่ามกลางกระแสข่าวเรื่องการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาษีนำเข้าและข้อตกลงทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีแพทองธารได้พูดในรายการ “โอกาสไทยกับนายกฯแพทองธาร” ว่า

“แม้ยังไม่มีคิวนัดอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลมี ‘ดีลลับ’ กับทีมงานฝั่งอเมริกาอยู่ตลอด”

คำว่า “ดีลลับ” ไม่ใช่ถ้อยคำธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อมาจากผู้นำประเทศ และเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ระดับชาติ

ประชาชนควรถามต่อว่า:

- ดีลลับเรื่องอะไร?

- กระทบผลประโยชน์ของชาติหรือไม่?

- ไทยได้หรือเสียอะไรจากดีลนั้น?

- และทำไมถึงต้องลับ?

แน่นอนว่าในเวทีการทูตและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเจรจาหลายครั้งจำเป็นต้องเป็นความลับในบางช่วง เพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศการพูดคุยหรือสร้างแรงต้านก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่ในระบอบประชาธิปไตย “ความลับ” ต้องมีขอบเขต และ “ความโปร่งใส” ต้องมีน้ำหนักเสมอ

โดยเฉพาะเมื่อการเจรจานั้นเกี่ยวข้องกับภาษี เงื่อนไขการค้า หรือผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการทั้งประเทศ

การกล่าวถึง “ดีลลับ” อย่างไม่มีคำอธิบายต่อสาธารณะ อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน และตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำลังตัดสินใจอะไร โดยไม่ให้สังคมมีส่วนรู้เห็น

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดในทันที แต่ควรชี้แจงให้ประชาชนเห็นภาพรวม เช่น

- ประเด็นที่อยู่ระหว่างการเจรจา

- เป้าหมายของฝ่ายไทย

- และสิ่งที่ประเทศไทยยืนหยัดรักษาผลประโยชน์ไว้

เพราะประเทศนี้ไม่ใช่ของรัฐบาล แต่เป็นของประชาชนทุกคน

และความไว้วางใจในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้เกิดจาก “การบอกให้เชื่อใจ” แต่ต้องเกิดจาก “การให้รู้ ในสิ่งที่ควรรู้” อย่างเหมาะสม