วันที่ 3 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก SirirajDerm โพสต์ข้อความระบุว่า...

“ข้อสังเกต ผื่น Anthrax”

ช่วงนี้มีโรคที่มีข่าวโรคแอนแทรกซ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่มุกดาหาร ชื่อโรคนี้คุ้นมาก หากใครได้ดูซีรีย์เรื่องสัตว์สยองกยองซอง ก็จะเห็นว่ามีการใช้แอนแทรกซ์เป็นอาวุธชีวภาพด้วย

แล้วมีวิธีสังเกตผื่นแอนแทรกซ์อย่างไร แอดมินสรุปไว้แล้วค่ะ

สาเหตุของโรคแอนแทรกซ์ และการแพร่กระจาย

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis สามารถสร้างสปอร์ (spores) ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อม มักพบเชื้อในสัตว์กินพืช เช่น วัว ควาย แพะ แกะ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

95% แพร่หลักๆผ่านทางผิวหนัง ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสสปอร์ที่ปนเปื้อนในสัตว์ติดเชื้อหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์

มีการนำไปทำอาวุธชีวภาพจริง เนื่องจากสามารถแพร่กระจายผ่านทางการหายใจ เช่นการสูดสปอร์เข้าไป ทำให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

สามารถติดเชื้อผ่านการสูดดมสปอร์เข้าปอดหรือรับประทานสปอร์จากเนื้อสัตว์ดิบที่ปนเปื้อนได้ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าติดเชื้อทางผิวหนัง

ตัวอย่างการแพร่กระจายของแอนแทรกซ์

แอนแทรกซ์นี้มีแพร่ระบาดเป็นระยะกระจายหลายภูมิภาคของโลก สาเหตุเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น

ในประเทศไทย ตัวอย่างที่จังหวัดมุกดาหาร ตามข่าวจาก พบว่า ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการชําแหละโคที่ป่วยเสียชีวิตและนำเนื้อโคที่ชําแหละไปแจกจ่ายให้กินภายในหมู่บ้าน หรือเหตุการณ์ที่เคยระบาดในไทยก็เกิดจากการชำแหละซากแพะมารับประทาน

ในสหรัฐอเมริกามีรายงานการแพร่ระบาด เกี่ยวข้องกับการนำหนังสัตว์มาทำกลองโดยไม่ผ่านการแปรรูปหนังสัตว์มาก่อน เป็นต้น

ที่สำคัญแอนแทรกซ์จะไม่กระจายจากคนสู่คน

อาการของโรคแอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง (cutaneous anthrax)

โดยส่วนใหญ่หลังสัมผัสเชื้อ 1-9 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมี

ผื่นตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ มือ แขน ศีรษะและคอ

เริ่มจากมีตุ่มแดงคล้ายแมลงกัดนำมาก่อน

จากนั้นไม่กี่วันจะเริ่มบวมมากขึ้นและกลายเป็นตุ่มพอง แต่จะไม่มีหนอง

ตุ่มพองแตกออก กลายเป็นแผลดำตรงกลางมีเนื้อตายสีดำ เรียกว่า ”eschar“ ดังภาพ ซึ่งจะแห้งภายใน 1-2 สัปดาห์

มักไม่มีอาการเจ็บ

อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย

หากแบคทีเรียเติบโตมากขึ้นจะมีการสร้างสารพิษ (toxin) ซึ่งจะทำให้มีไข้ หัวใจเต้นแรง คลื่นไส้อาเจียน ความดันต่ำบางรายเสียชีวิตได้

การรักษาและการป้องกัน

โดยทั่วไปหากการติดเชื้อเกิดจากการสัมผัสสัตว์(ไม่ใช่อาวุธทางชีวภาพ)ใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่ม penicillin โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำจนกว่าผื่นจะแห้งภายใน 1-2 สัปดาห์ แล้วต่อด้วยยาปฏิชีวนะรูปแบบรับประทานกลุ่ม penicillin หรือ doxycycline ต่อจนผื่นหายสนิท โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดนำเนื้อตายออก

ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกัน รายละเอียดตาม website ของกรมควบคุมโรคได้เลย

https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=1

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการตระหนัก ไม่สัมผัสเนื้อสัตว์ด้วยมือเปล่า ไม่นำสัตว์ที่ป่วยตายมาทำอาหาร ทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเสมอ

หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว แนะนำรีบมาพบแพทย์ให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยและรักษาดีที่สุด

**สำหรับแพทย์**

ผื่นลักษณะแบบ Anthrax หากผู้ป่วยมาพบในระยะที่มีเนื้อตายสีดำตรงกลาง คล้ายกับลักษณะของ ecthyma (ecthyma-like lesion) มี differential diagnosis หลายโรคโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ

เชื้อแบคทีเรีย

- Ecthyma gangrenosum: ที่เกิดจากเชื้อ pseudomonas aeruginosa

- Cutaneous meningococcemia

- Necrotizing fasciitis (พบมี hemorrhagic bleb ร่วมด้วยได้)

เชื้อไวรัส

- Mpox virus in immunocompromised host

- Orf virus or pseudocowpox virus

เชื้อรา

- Mucormycosis

- Cutaneous aspergillosis

โรคอื่นๆ: brown recluse bite, pyoderma gangrenosum, calciphylaxis, septic emboli เป็นต้น

การวินิจฉัยแอนแทรกซ์แยกกับโรคอื่นๆทำได้โดย

การซักประวัติการสัมผัสและปัจจัยเสี่ยง

ตรวจเพิ่มเติม swab gram stain ผื่น พบ large, gram-positive rods ลักษณะ blunt-ended และมักพบเป็น short chains จะช่วยในการวินิจฉัยได้

การรักษาด้วยยากลุ่ม penicillin ได้ผลดีมาก หลังให้ยาภายใน 6 ชั่วโมง ก็ตรวจไม่พบแบคทีเรียที่ใต้แผลแล้ว โดยผู้ป่วยบางรายแผลหายเองได้ แต่บางรายที่ไม่ได้รับการรักษาโอกาสเสียชีวิต 5-20% ทีเดียว

ขอเป็นอีกเสียงชื่นชมคุณหมอ intern ด้วยนะคะ โรคนี้ถ้าไม่อยู่ใน differential diagnosis ก็อาจจะไปไม่ถึงการวินิจฉัยค่ะ เพราะในไทยเจอน้อยมาก แพทย์จึงไม่ค่อยนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ

Reference เนื้อหาและภาพประกอบ:

* Fitzpatrick's Dermatology, 9th edition

* Anthrax outbreak: exploring its biological agents and public health implications. Front. Trop. Dis 4:1297896.

* Typical Evolution of a Cutaneous Anthrax Lesion. Infect Dis Clin Microbiol 2020; 1: 27-29.

* Cutaneous Anthrax in an Unestimated Area of Body. Journal of Microbiology and Infectious Diseases. 2016; 2: 10.5799/jmid.123131.

#แอนแทรกซ์ #anthrax

ข้อมูล/ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก SirirajDerm