วันที่ 2 พ.ค.68 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยแบบ Cell Broadcast Service เต็มรูปแบบระดับเล็กเป็นครั้งแรกของประเทศ ในพื้นที่ทดสอบ 5 จังหวัดทั่วประเทศที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสงขลา และกรุงเทพมหานครที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคาร A และ B
โดยขั้นตอนการทดสอบเริ่มต้นในเวลา 12.45 น.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (บางนา) มีมติเห็นชอบให้ ปภ.ส่งแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีการรายงานผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการเตือนภัย เพื่อขออนุมัติส่งแจ้งเตือนไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มไลน์ “การส่งแจ้งเตือนให้กับประชาชน” จากนั้นจะรายงานไปยังผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผ่านระบบ Trunk Radio มายังห้องบัญชาการ ปภ.เพื่อขอความเห็นชอบจากอธิบดี ปภ. จากนั้น อธิบดี ปภ.จะอนุมัติให้ส่ง Cell Broadcast ตามข้อความและพื้นที่ที่กำหนด โดยให้ผู้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความแจ้งเตือน และรายงานผลทดสอบตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาในการทดสอบไม่เกิน 10 นาที
นายภาสกร กล่าวว่า วันนี้การทดสอบ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการทดสอบ และเริ่มกดสัญญาณ 13:00 น. ตรงไปยัง 5 จุดดังกล่าว ซึ่งได้ประชุมทางไกลร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ปล่อยสัญญาณรวมถึงพี่น้องประชาชนด้วย ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจของทั้งสามค่ายมือถือสามารถส่งสัญญาณได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที สัญญาณก็จะดังที่โทรศัพท์ ทั้งระบบแอนดรอยด์ และ iOS อย่างครบถ้วน หลังจากนั้น จะให้แต่ละจังหวัดได้ติดตามประเมินผลผ่านระบบ กูเกิ้ลฟอร์มเพื่อส่งให้ ปภ. ในการทบทวนประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมย้ำว่า ผลกระทบวันนี้เป็นที่น่าพอใจทุกประการ
โดยการทดสอบวันนี้เป็นการทดสอบขนาดเล็ก ซึ่งต้องดูประสิทธิภาพของผู้ให้บริการว่าสามารถกำหนดพื้นที่ตามที่ได้กำหนดหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าสัญญาณอาจล้นไปบ้าง เนื่องจากเครือข่ายเสาสัญญาณของผู้ให้บริการยังไม่ครอบคลุมในส่วนภูมิภาค เพราะฉะนั้น ในรัศมี 1.5 กิโลเมตรของพื้นที่ที่ทดสอบ ก็จะได้รับสัญญาณไปด้วย ส่วนข้อกังวลในการทดสอบคือคนไม่เคยได้ยินเสียงแจ้งเตือนในโทรศัพท์ของตัวเองมาก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่กังวลคือจะตกใจ แต่เราก็ปูพรมประชาสัมพันธ์ไปล่วงหน้าผ่านเครือข่ายทุกแขนง เพราะฉะนั้น เราก็มั่นใจว่าพี่น้องประชาชนจะรับรู้การส่งข้อมูลข่าวสาร สำหรับโทรศัพท์ที่ยังไม่อัพเดทเวอร์ชั่น หรือยังใช้ระบบ 3G และ 3G จะมีการส่งข้อความสั้นหรือ SMS คู่ขนานไปด้วยโดนจะสามารถส่งได้ภายในไม่เกิน 10 นาที เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลครบถ้วนทุกคน
นายภาสกร กล่าวว่า ปภ.ใช้การแจ้งเตือนแบบ Virtual CBS เนื่องจากระบบยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในกรณีที่ ปภ. จะส่งข้อความถึงผู้ให้บริการโดยตรง เพราะฉะนั้น การส่งข้อมูลต่าง ๆ จะส่งด้วยความรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าระบบจะเสร็จก่อนช่วงเดือน ก.ค. จะทำให้เรามีระบบเตือนภัยเหมือนประเทศอื่น ๆ ที่ทันสมัย
สำหรับกรณีที่ได้รับการแจ้งเตือนล่าช้านั้น เนื่องจากพื้นที่ขนาดเล็ก และจำกัด หากส่งด้วยกำลังแรงสูงก็จะรับออกไปนอกพื้นที่ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ขึ้น การส่งสัญญาณก็จะส่งคลื่นได้เต็มที่ จะมีเฉพาะรอยตะเข็บบ้าง เนื่องจากเซลล์ไซด์ไม่ได้เกาะติดในรอยต่อระหว่างอำเภอ หรือจังหวัด เพราะฉะนั้น การปล่อยสัญญาณอาจจะมีล้ำไปบ้าง
เมื่อถามถึงกระบวนการจะล่าช้าหรือไม่ หากมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถประเมินล่วงหน้า หรือคาดการณ์ล่วงหน้าได้ นายภาสกร ย้ำว่า เรามีข้อปฏิบัติหลักประจำ SOP เรามีแต่ละหน่วยงานในการตรวจสอบที่จะมีผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่จะใช้ กรณีที่ภัยไม่รุนแรงจะเป็นการรายงานข่าวให้ประชาชนทราบ แต่กรณีที่รุนแรงที่อาจให้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต จำเป็นต้องแจ้งเตือนประชาชนก็สามารถใช้ระบบ CBS ได้ทันที โดยเราแจ้งเตือนได้ทุกสาธารณภัย พร้อมทั้งจะส่งข้อมูลที่เป็นข้อปฏิบัติตัวหลังเกิดเหตุให้ประชาชนด้วย
ทั้งนี้ หลังทดสอบทั้ง 3 ระดับแล้ว การแจ้งเตือนจะถึงมือประชาชนไม่เกิน 1 นาที และคาดว่าก่อนเดือน ก.ค.นี้ จะสามารถใช้ได้ โดยหากผ่าน 3 ระดับแล้ว อาจจะทดสอบทั้งประเทศอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ปภ. วางแผนทดสอบระบบต่อเนื่องอีกสองครั้ง ระดับอำเภอในวันที่ 7 พ.ค.68 เวลา 13.00 น. ระดับจังหวัด วันที่ 13 พ.ค.68 เวลา 13.00 น. โดยระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast สามารถใช้ได้ในโทรศัพท์ทุกรุ่นที่ใช้ 4G หรือ 5G โดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม รองรับระบบปฏิบัติการ Android 11 ขึ้นไป และ iPhone ที่ติดตั้ง iOS 18 ขึ้นไป