สมรภูมิการเมืองท้องถิ่นกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อศึกเลือกตั้งเทศบาลในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 กำลังจะเปิดฉากขึ้น พร้อมการประจันหน้ากันอย่างไม่ไว้หน้า ระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ในซีกฝั่งประชาธิปไตย นั่นคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ซึ่งเดิมทีเคยถูกมองว่าเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์เดียวกัน
แม้ทั้งสองพรรคจะเคยร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เคยเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน แต่ก็ล้มเหลวในวินาทีสุดท้าย ส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างต้องเลือกเส้นทางของตนเอง และเมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ก็ย่อมต้องงัดกลยุทธ์เต็มกำลังเพื่อช่วงชิงฐานเสียงจากกันและกัน
จากศึกเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยแสดงความแข็งแกร่งด้วยการกวาดที่นั่งมาได้ถึง 10 จาก 16 เขตที่ส่งผู้สมัคร ส่วนพรรคประชาชน แม้จะไม่สามารถแผ่ขยายได้กว้าง แต่ก็สามารถปักธงได้ที่จังหวัดลำพูนได้สำเร็จ ถือเป็นสัญญาณเตือนสำหรับเพื่อไทยไม่อาจประมาทกระแสของพรรคประชาชนในการเมืองระดับท้องถิ่นได้แล้ว
ภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 หัวหน้าพรรคประชาชน "ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หรือ "เท้ง" ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างหนักแน่นว่า พรรคประชาชนไม่ได้ต้องการแค่ชัยชนะทางคะแนนเสียง แต่ต้องการจัดตั้ง "รัฐบาลที่ดีที่สุด" ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ต่อรัฐบาลปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตและการบริหารที่ล้มเหลว
ณัฐพงษ์ยังชูนโยบายใหญ่ 3 เสา คือ การปฏิรูปการเมือง การปฏิรูประบบราชการ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยระบุว่า พรรคประชาชนต้องการเป็น "ทางเลือกใหม่" แทนพรรคเพื่อไทยที่พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถสร้างทางรอดให้ประชาชนได้จริง พร้อมย้ำว่า หากรัฐบาลในอนาคตไม่ได้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พรรคของเขาจะไม่เข้าร่วมอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น "พรรคสีแดง" หรือ "พรรคสีน้ำเงิน"
แม้จะไม่ปิดโอกาสเสียทีเดียว โดยแง้มประตูไว้ว่า หากพรรคเพื่อไทยยอม "สำนึกผิด" และสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ก็อาจร่วมมือได้ในอนาคต แต่ณัฐพงษ์ก็ย้ำหนักแน่นว่า พรรคประชาชนมีจุดยืนชัดเจน "พูดอย่างไร หาเสียงอย่างไร เลือกตั้งแล้วจะทำอย่างนั้น" ไม่กลับลำ ไม่หักหลังประชาชน
ทว่าอีกฟากหนึ่งของสมรภูมิ ที่เวทีหาเสียงจังหวัดเชียงใหม่ ฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย อดีตนายกรัฐมนตรี "ทักษิณ ชินวัตร" ได้ออกโรงตอบโต้พรรคประชาชนอย่างเผ็ดร้อน จนคำพูดบางช่วงกลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อทักษิณใช้คำว่า "สึ่งตึง" ซึ่งเป็นภาษาเหนือ หมายถึง โง่เง่า หรือซื่อบื้อ มาเหน็บหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมวิจารณ์ว่า พรรคประชาชนไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ไม่ควรไปโทษคนอื่น เพราะมัวแต่ยึดติดกับประเด็นมาตรา 112 จนเป็นอุปสรรคในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล
ทักษิณยังขยี้ซ้ำว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับหนึ่งพยายามเปิดทางให้แล้ว แต่พรรคประชาชนก็รวมเสียงไม่ได้ ไม่มีใครเอาด้วย ส.ว.ไม่เอา พรรคอื่นก็ไม่ร่วมด้วย พร้อมเหน็บว่า "ไม่มีเพื่อน แล้วมาโทษคนอื่น แบบนี้แหละเขายังเป็นละอ่อน ก็คิดแบบละอ่อน"
คำพูดของทักษิณสะท้อนเกมการเมืองเชิงวาทกรรมที่แหลมคมและซับซ้อน แม้วลีอมตะทางการเมืองคือ "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" แต่ในความเป็นจริงก็ยังต้องช่วงชิงบทบาทนำจากพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และต้องพิสูจน์ว่าพรรคเพื่อไทยยังแข็งแรงพอที่จะเป็นแกนกลางของรัฐบาลได้
การหยิบยกเรื่องมาตรา 112 มาโจมตีพรรคประชาชน จึงไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เป็น "อาวุธเดิม" ที่ทักษิณเคยใช้แล้วได้ผลมาแล้วในศึกเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งตอนนั้นเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าเคยเตือน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ให้พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำคัญของประเทศ โดยอ้างถึงบทเรียนของตนเองที่ต้องอยู่ต่างประเทศนานถึง 17 ปี
ธนาธรตอบโต้ทันควันว่า เหตุผลที่พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ ไม่ได้เกี่ยวกับมาตรา 112 เลย
ทว่า ณ เวลานี้ การนำประเด็น ม.112 กลับมาเล่นอีกครั้ง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ "เชียงใหม่" ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของตระกูลชินวัตร จึงอาจไม่ใช่แค่เรื่องของนโยบาย แต่เป็นเรื่องของการ "ตีตรา" ให้คู่แข่งทางการเมืองดูเป็นฝ่ายที่ก่อความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของประเทศ
อีกทั้งท่าทีของพรรคประชาชนที่ออกมาปกป้อง “พอล แชมเบอร์ส” นักวิชาการชาวอเมริกัน ซึ่งถูกฟ้องคดีตาม ม.112 ก็ยิ่งทำให้คู่ต่อสู้มีเหตุผลในการตั้งคำถามว่า พรรคนี้กำลังจะพาประเทศไปในทิศทางใด
ในขณะที่บรรยากาศการเมืองไทยคล้ายละคร "เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด" พรรคต่างๆ ในรัฐบาลผสมยังไม่สามารถปล่อยมือจากกันได้ แม้จะเหน็บมีดไว้คนละเล่ม ต่างฝ่ายต่างระแวง แต่ก็ต้องพยุงกันเดินหน้าไปในระบบที่พรรคเพื่อไทยยังไม่มีอำนาจเต็ม และ "ทักษิณ" เองก็ยังไม่สามารถใช้อำนาจโดยตรงในระบบการเมืองได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่พรรคประชาชนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เมื่อคดีเกี่ยวกับการเสนอแก้ไข ม.112 โดย 44 ส.ส.ของพรรคใกล้จะได้ข้อยุติ ซึ่งอาจมีถึง 9 ส.ส. ที่ต้องสิ้นสุดเส้นทางการเมืองจากคำวินิจฉัย หากเป็นเช่นนั้น คณิตศาสตร์การเมืองจะเปลี่ยนไปทันที และทำให้พรรคเพื่อไทยเบาใจลงไม่น้อย