หมายเหตุ : “ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม” อดีตคณบดี คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทให้สัมภาษณ์พิเศษรายการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ มองไปข้างหน้าถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี ที่จะมีขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 นี้ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
-ถ้าประชาชนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และนายกเทศมนตรี หรือไปใช้สิทธิน้อย โอกาสที่จะทำให้ “บ้านใหญ่” ชนะเลือกตั้งมีสูงหรือไม่
ถูกต้อง ต้องยอมรับว่าในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแต่ละครั้ง จะต้องมีการเมืองระดับชาติลงไป เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน ระหว่างการเมืองระดับชาติ ในแง่ของการสนับสนุนงบประมาณ หรือกลุ่มทุนที่ไปลงทุนก็ดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นนอมินีของนักการเมืองระดับชาติ เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะผู้แทนฯที่เป็นสส. ก็จะเกาะเกี่ยวกับการเมือง กับผู้บริหารท้องถิ่นอยู่แล้ว
เรื่องแบบนี้เราบอกไม่ได้ว่า มีที่ไหนบ้าง ที่เราเรียกว่าบ้านใหญ่คุมตรงนั้น ตรงนี้ แต่เราดูจากนามสกุลก็ได้ ดูจาอิทธิพลของผู้แทนฯที่ยึดโยงกับการเมืองระดับชาติ ไปเป็นสส.แล้วมาเกาะเกี่ยวกับเทศบาล
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีที่เป็นอิสระ คือไม่พึ่งพิง ไม่เกาะเกี่ยวกับบ้านใหญ่ แล้วสามารถชนะเลือกตั้งได้ก็มี เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ประชาชนว่าเรามองนโยบายเป็นหลักหรือไม่ ดังนั้นในเรื่องของการแข่งขันอย่าไปมองว่านี่คือคนของบ้านใหญ่ มองว่าคนนี้ให้เงินเราในการซื้อเสียง โดยส่วนตัวแล้วผมต่อต้านเรื่องการซื้อเสียง เพราะมันจะทำให้เกิดการคอร์รัปชันขึ้นมา ทำให้มีเงินทอนเกิดขึ้น ซึ่งการเมืองแบบนี้ขอให้ประชาชนอย่าไปสนับสนุน ดังนั้นขอให้เลือกเอาการเมืองเชิงนโยบาย และการเมืองที่ตอบโจทย์เรา
สำหรับการที่หากท่านไม่ไปเลือกตั้งเทศบาล นั้นอันดับแรก ท่านจะถูกตัดสิทธิในการไปสมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือการสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารสภาท้องถิ่น จะถูกตัดสิทธิเรื่องการสมัครเป็นนักการเมือง เรื่องพวกนี้มีความจำเป็น แต่ถ้ามีความจำเป็นไปไม่ได้จริง ๆ สามารถทำคำขอแสดงเหตุจำเป็นก่อน วันเลือกตั้งได้ 10 วัน จะได้รับการยกเว้น
ดังนั้นจึงมาตอบคำถามคือยังมีถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ที่มีการยึดโยง กับบ้านใหญ่ แต่การเลือกตั้งในเขตเทศบาลตำบล จะมีน้อย ซึ่งในส่วนที่เป็นเทศบาลนคร พรรคการเมืองใหญ่ ๆ คือการเลือกตั้งเทศบาลเมือง กับเทศบาลนคร ซึ่งเป็นการเลือกตั้งในเขตใหญ่ เชื่อว่าบางพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร จุดนี้ถือว่ายึดโยงอยู่แล้ว ส่วนบ้านใหญ่ ซึ่งเป็นฐานคะแนนของพรรคการเมืองที่มีบารมี มีทุนมากพอสมควร ซึ่งอาจจะส่งลงสมัครในนามพรรค หรือส่งในนามกลุ่มก็ได้ ประชาชนก็ต้องคอยดู
-มองว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น หากดูจากการเลือกตั้งสนามนายกอบจ.ที่ผ่านมา
ในสมัยก่อนการแข่งกันในสนามเลือกตั้งนายกอบจ.จะเป็น พรรคสีส้มกับพรรคสีแดง คือพรรคเพื่อไทย สู้กัน และมีพรรคภูมิใจไทยด้วย ซึ่งจุดนี้ถือว่าเปิดหน้าพอสมควรในการเลือกตั้งอบจ. และการที่พรรคการเมืองดังกล่าวนี้สนใจ เพราะมันเป็นภาพจังหวัด ที่จะแพ้ไม่ได้ บ้านใหญ่ก็แพ้ไม่ได้ พรรคนี้เคยครองสส.ก็แพ้ไม่ได้ พรรคนี้ก็อยากไปยึดพื้นที่เพราะมีสส.อยู่ วิธีแบบนี้พรรคการเมืองต้องการยึดจังหวัด
แต่ในระดับเทศบาล มันเล็กลงมา แต่สำหรับเทศบาล บางที่อย่างเทศบาลนคร พรรคการเมืองใหญ่เขาส่งผู้สมัครลงแล้ว แบบนี้จะมีการแข่งกันแน่นอน แต่จะให้มีความเข้นข้นเท่ากับการแข่งขันอบจ.คงไม่เท่า
สำหรับเทศบาลนคร นครราชสีมา พรรคการเมืองที่ครองอยู่ หรือพรรคการเมืองที่หนุนอยู่ก็มีอยู่หลายคน นอกจากนี้ก็มีเทศบาลนครขอนแก่น ,อุบลฯ ,สงขลา ,นครศรีธรรมราช รวมทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี เทศบาลเหล่านี้ถือว่าใหญ่ หรือในปทุมธานี บางเทศบาลก็สู้กันพอสมควร รวมทั้งให้จับตาดูที่นครปฐม สมุทรปราการ และนนทบุรี ต้องรอดูหลังวันที่ 4 พ.ค.นี้ จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่ามีกลุ่มการเมืองไหนบ้าง
แต่เราไม่ได้ปิดกั้นว่าการเมืองบ้านใหญ่หรือกลุ่มอิสระ จะลงไม่ได้ การเข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ในกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องสังกัดพรรค แต่บางพรรคต้องการพื้นที่นั้นๆและจะมีผลต่อการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งการเลือกตั้งสส.เขตและสส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้นความเข้มข้นจึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี ผมอยากเรียกร้องให้สื่อทั้งหลาย ช่วยกันจับตา ช่วยกันดูการเลือกตั้ง และอาจจะเอาผู้สมัครมาพูดกันในรายการต่าง ๆเพื่อให้เกิดความคึกคัก ถ้าเราเห็นพรรคการเมืองสู้กัน จะทำให้ประชาชนได้มองเห็นและเกิดกระแสของการตื่นตัวเพิ่ม ซึ่งในโอกาสนี้พรรคการเมืองก็ควรต้องบอกเลยว่าจะทำอะไรให้เทศบาลบ้าง ผมมองว่ายิ่งการที่พรรคการเมืองลงไป ทำให้มีผลดี 2เรื่อง เรื่องที่ 1 เราอาจจะตั้งคำถามต่อไปยังรัฐบาล เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลมีแนวทางจะทำอย่างไร ทั้งในแง่ของการแก้กฎหมาย การเพิ่มงบประมาณ การให้อำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ ส่วนในแง่การแข่งขันนั้นแน่นอน ทุกฝ่ายต้องสู้กันด้วยนโยบาย ฉะนั้นประชาชนก็ไม่ต้องไปตื่นตระหนก หรือคิดในเชิงหาประโยชน์จากคนที่ไปสมัคร แต่ขอให้ดูที่นโยบาย หากนโยบายดี ถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่เมื่อไหร่ที่ท่านรับเงินจากนักการเมืองที่ไปลงเลือกตั้ง บอกได้เลยว่าเงินส่วนนั้นเขาถอนทุนคืนแน่ แล้วเรื่องการบริการสาธารณะ ก็จะไร้คุณภาพ ขอให้เลือกนโยบายเป็นเรื่องใหญ่ เลือกคนเป็นเรื่องรอง สิ่งเหล่านี้ถือว่าจะตอบโจทย์ให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด
การเลือกตั้งเทศบาลจะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค.นี้ แต่การที่ผมพูดถึงสมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่น หมายถึงการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จะมีด้วยกันหลายระดับ ซึ่งการเลือกอบจ.มีไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 ดังนั้นจึงยังมีการเลือกตั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในวาระที่จะถึงคือ 11 พ.ค.เป็นการเลือกตั้งในระดับเทศบาล ทั้งเทศบาลนคร ใหญ่ที่สุดเป็นพื้นที่ ที่กว้าง เทศบาลตำบล และเทศบาลเมือง ทั้ง 3 เทศบาลเลือกพร้อมกัน
สำหรับผู้ที่จัดการเลือกตั้งคือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ดูการเลือกตั้งภาพรวมทั้งประเทศ ส่วนแต่ละพื้นที่มีผู้จัดการเลือกตั้งอยู่ในระดับท้องถิ่น แต่ความคาดหวังที่จะให้ประชาชนออกมาเลือกตั้ง ถ้าดูจากภาพที่ผ่านมาในการเลือกตั้งอบจ.ทางด้านกกต.คาดหมายว่าประชาชนจะไปเลือกตั้งมาก สัก 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่พบว่าการเลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมา ประชาชนไปเลือกตั้งแค่ 52 เปอร์เซ็นต์ แต่บางที่ก็ยังต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าที่กกต.คาดหวัง ประเด็นนี้เราเป็นห่วง ในการเลือกตั้งเทศบาลในวันที่ 11 พ.ค.นี้
“ หากไปเลือกตั้งกันน้อย จะทำให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และความสำคัญของเทศบาล จะถูกแปรความว่า ประชาชนให้ความสนใจน้อย จะมีผลต่อการตระหนักของประชาชนเอง ในท้องถิ่น ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ประชาชน ไปเลือกตั้งให้มาก
การเลือกตั้งระดับเทศบาล ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าอบจ.ดังนั้นการเลือกตั้งจึงมีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชน ที่อยู่ใกล้ชิดกับเทศบาล อยู่ใกล้ชิดกับปัญหา”
ดังนั้นจึงอยากให้พี่น้องลองสำรวจดูว่า ที่เทศบาลได้ดำเนินการด้านสาธารณะให้กับเรา เขาทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ ช่วยส่งเสริมด้านอาชีพ ด้านโครงสร้างพื้นฐานถนนหนทาง ทางเดินเท้า ทางคนพิการ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย ขยะ ศูนย์บริการสุขภาพ หรือการที่เราพาลูกหลานไปเรียนที่โรงเรียนในเทศบาล ในระดับที่เทศบาลจัดนั้นเราพอใจ แค่ไหน อย่างไร ผมคิดว่าเรื่องนี้พี่น้องต้องมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น ในการประเมินสิ่งที่เทศบาลทำมา แล้วนำมาสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเลือกตั้ง ครั้งนี้ ประชาชนต้องดูว่าเราพอใจหรือไม่ มีกี่ทีมที่สมัคร แล้วคนเดิมที่ทำมา ทำดีหรือไม่ จะให้เขาไปต่อหรือเรามาเลือกคนใหม่ทดลองดู
จากการรับสมัครเมื่อวันที่ 31 มี.ค.68 ที่ผ่านมา จนถึงวันศุกร์ที่ 4 เม.ย.สมัครพร้อมกันหมดทั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ขอให้ประชาชนสังเกตดูดีว่า บัตรใบแรกคือการเลือกนายกเทศมนตรี บัตรใบที่สองคือการเลือกสมาชิกสภาเทศบาล ในเขตที่เราอยู่ ส่วนอำนาจหน้าที่ประชาชนอาจจะถามว่าเทศบาลนั้นจะเลือกไปทำไม และนายกเทศมนตรีไปทำไม เลือกสมาชิกสภาเทศบาลไปทำไม ผมจึงบอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าผู้บริหารระดับท้องถิ่น คือนายกเทศมนตรีต้องบริหารเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 และแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้ง ที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้ และตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้อำนาจเทศบาลได้ทำหน้าที่ ที่กว้างขึ้น
ยกตัวอย่างคือหน้าที่ของเทศบาลมีกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่องเที่ยว การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย การจัดสวัสดิการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ เป็นการบริการสาธารณะ ทั้งหมดนี้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนการเลือกสมาชิกสภาเทศบาล เลือกไปเพื่อควบคุม นายกเทศมนตรี ว่าได้จัดสิ่งที่ได้พูดไปแล้วหรือไม่ ตามนโยบายหรือไม่ ดังนั้นนายกเทศมนตรี ที่จะแข่งกัน 2-3 ทีม แต่ละทีมต้องเสนอแล้ว เรื่องการจัดความสะอาดในเทศบาล จะทำอย่างไรบ้าง แล้วใช้เงินจากไหน ตอบโจทย์ที่พี่น้องต้องการมากน้อยแค่ไหน
ขอเรียกร้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในวันที่ 11 พ.ค. นี้จะทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องของประชาชน และท่านอย่าทำให้พื้นที่ของเทศบาลเป็นพื้นที่ของนายกเทศมนตรี เป็นเรื่องผู้บริหารท้องถิ่น ท่านต้องไปคิดใหม่ว่า เราจะมีส่วนร่วมอย่างไร มีกฎหมายถอดถอน ที่สามารถดำเนินการได้ หากเข้าไปทำหน้าที่แล้ว ทำไม่ดี ก็ยื่นถอดถอนได้ หรือประชาชนยังสามารถตั้งกลุ่มสภาเมืองกันขึ้นมาได้เพื่อจะช่วยให้กระบวนการนำเสนอ แล้วไปบอกกับนายกเทศมนตรี หรือผู้บริหารให้ทำในสิ่งที่เป็นปัญหา และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของท่าน