หลัง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดตัวในการร่วมแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย ใต้หมวก ที่ปรึกษาประธานอาเซียน ตั้งแต่ไปหารือ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประธานอาเซียน ที่ สตูล และ นายอันวาร์ ตามมาพบที่ เมืองไทย ไฟร้อนจากการเมือง ก็ลามไปถึง ปลายด้ามขวาน โดยพลัน
จากเดิมที่มีคณะก้าวหน้า อดีตพรรคก้าวไกล ปัจจุบันพรรคประชาชน ลงไปทำกิจกรรมทางการเมือง หาเสียงเลือกตั้ง จนบางกรณี ถูกมองว่า สนับสนุนให้มีการต่อต้านทหาร ต่อต้านอำนาจรัฐ จนอาจกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ
มาตอนนีั มีฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทักษิณ มาร่วมผสมโรง จับตาความเคลื่อนไหวของ รัฐบาล และกองทัพ ในการแก้ปัญหาภาคใต้พร้อมโหมไฟว่า ชายแดนภาคใต้ หนักหนา รุนแรงมากขึ้น ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย
แต่ในข้อมูลข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคง แล้ว ไฟใต้ไม่เคยแผ่วเบาลงเลย ไม่ว่าในยุคใด ตลอดเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ ประกาศตัว การมีอยู่ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน อีกครั้ง ด้วยเหตุการณ์ ปล้นปืน ค่ายทหาร อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547
มาถึงวันนี้ เหตุการณ์ภาคใต้ส่อเค้ารุนแรงขึ้น ไม่ใช่เพราะเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นปัจจัยหลัก แต่เพราะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายขบวนการ ใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนเจเนอเรชัน จาก ยุคของ มะแซ อูเช็ง -สะแปอิง บาซอ - ดุลเลาะห์ แวมานอ มาสู่คนรุ่นใหม่ ที่ระดับแกนนำ เป็นคนวัย 25-40 ปี ส่วนบรรดา แกนนำรุ่นพ่อ ก็กลายเป็น ที่ปรึกษา เป็นกองหลังให้รุ่นลูกหลาน เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสั่งการ
ที่ฝ่ายความมั่นคง จับตา คือความเคลื่อนไหว ของระดับแกนนำคนรุ่นใหม่ ที่มีหลายคน เคยมาเรียนมหาวิทยาลัยใหญ่ ที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ในกรุงเทพฯ และได้ชื่อว่า เคยเป็นสมาชิกกลุ่ม PNYS คือ คนที่มาจาก ปัตตานี-นราธิวาส-ยะลา และสงขลา และจากกลุ่ม Permuda เยาวชนแนวร่วม ที่เติบโต มาเป็นระดับแกนนำ ในระดับเซลล์ ในแต่ละ ตำบล อำเภอ และจังหวัด
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการแสดงบทบาทนำ ชิงการเป็นที่ยอมรับ ชิงการ เป็นผู้นำด้วยการก่อเหตุรุนแรงที่แสดงความสามารถในการวางแผน และการใช้กำลัง โดยเฉพาะหากปฏิบัติการต่อเหยื่อที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและโดยเฉพาะทหาร ได้มากกว่า และเป็นที่จดจำกว่า เพื่อให้ได้มีแนวร่วมเกิดความศรัทธาและมาอยู่ในเซลล์ของตนเองมากขึ้น
ด้วยเพราะ แกนนำเหล่านี้ เติบโต มาในยุค 20 ปี ที่ผ่านมา จึงมีความโกรธแค้น จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น และทำให้ฝ่ายขบวนการ สูญเสีย ทั้ง เหตุการณ์ 28 เม.ย.2547 วันเดียวกับวันก่อเหตุที่มัสยิด กริอเซะ ปัตตานี และอีกหลายจุด ใน 4 จว.ชายแดนใต้ จนมาถึง เหตุการณ์ตากใบ หรือ การสูญเสีย ของ นายมะรอโซ
ความเชื่อทางศาสนา และการถูกปลูกฝัง จาก อุสตาซ รุ่นพี่ บาบอ ในรร.ปอเนาะ และแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน ยังคงถูกสืบทอด
แต่พี่น้อง มุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ของไทยไม่ได้ต้องการจะแบ่งแยกดินแดนเพื่อไปรวมเป็นส่วนหนึ่งกับมาเลเซียเพราะพวกเขามีความภูมิใจในความเป็นมลายู และบางส่วนต้องการแยกตัวคือ เป็นรัฐอิสระ
ดังนั้น จึงไม่เกี่ยว กับ กระแสข่าว ที่ฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ พยายามปลุกว่า ทักษิณ มีข้อตกลงใด กับนายอันวาร์ นายกฯ มาเลเซียหรือไม่ เพราะ มาเลเซียก็ไม่ได้อยากจะได้ 4 จว. ชายแดนใต้ของไทยรวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
การแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของไทย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของแนวคิดความรู้สึกและการปลูกฝังถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบในยุคใหม่จึงทำให้ฝ่ายความมั่นคงของไทย ไม่หวังผลจากการพูดคุยสันติสุข กับขบวนการ BRN ที่มีฝ่ายมาเลเซีย เป็นผู้อำนวยการความสะดวก ในนามตัวแทนของรัฐบาลมาเลเซีย
เพราะคุยกันมาหลายปี เปลี่ยนผู้อำนวย ความสะดวก จาก มาเลเซียมาแล้วหลายคน รวมถึงเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยไปแล้วหลายคน แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น
จนเกิดคำถามมาตลอดหลายปีว่าที่คุยอยู่นั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ คุมกลุ่มกองกำลังที่ก่อเหตุได้จริงหรือไม่ เพราะก็มักจะอิดออดในการเจรจาเมื่อฝ่ายไทยยื่นให้มีการหยุดยิง เช่น ในช่วงรอมฎอนสันติสุข แต่ ฝ่าย BRN ก็ไม่สามารถควบคุมได้ โดยอ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอื่น ขบวนการอื่น
เหล่านี้ จึง เป็นสาเหตุที่ทำให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สั่งการให้ทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกองทัพปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ใหม่ และยังไม่มีการแต่งตั้ง หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้คนใหม่ แทนนายฉัตรชัย บางชวด ที่ขยับขึ้นไปเป็นเลขาธิการสมช.แล้ว
แม้จะมีชื่อ “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผช.รมต.ประจำ รมว.กลาโหม เป็น ตัวเต็งคนหนึ่งที่เริ่มต้นลงไปทำงานในพื้นที่มาระยะหนึ่งแล้ว ก็ตาม
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งในการชิงเก้าอี้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขในหมู่ทหารสายภาคใต้ที่เคยทำงานในกองทัพภาคที่ 4 และมีชื่อเป็นแคนดิเดตหลายคน และจากหลายขั้ว จนไม่อาจที่จะเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งวางแนวคิดก็ต้องการให้หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นพลเรือนเช่นเดียวกับ ฝ่ายมาเลเซีย
ภูมิธรรม ได้พูดคุยกับ “บิ๊กปู” พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. แล้ว ว่าอยากให้ทำงานเชิงรุก เพราะถ้าเราตั้งอยู่ในที่ตั้งเราจะเกิดปัญหาขึ้นเรื่อย ๆ และมองท่าทีของ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในเชิงบวก ให้ความร่วมมือตรงนี้ให้ดียิ่งขึ้น และเล็งใช้แนวทาง สร้างเป็นเขตเศรษฐกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงของทั้ง2 ประเทศ
ช่วงนี้จึงเป็นช่วงวัดใจ ระหว่างทักษิณ กับ อันวาร์ ระหว่างไทยกับมาเลเซีย ว่า จะหาตัวจริง มาคุยให้ได้หรือไม่ และยังเป็นการวัดใจระหว่าง ทหาร กับ โจรใต้ ว่า ใครจะอึด อดทน ได้มากกว่า และนานกว่ากัน