ในที่สุด!!ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) คนที่ 3 ก็กำลังจะมีเจ้าของ หลังว่างเว้นมานานเกือบ 8 เดือน นับตั้งแต่ “นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์” ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ทิ้งไว้เพียงคำถามว่า “ใครจะมานั่งตำแหน่งต่อจากนี้?” ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวน และภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่มีฐานะ ติดลบในขณะนั้นกว่า 1 แสนล้านบาท
การประกาศสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุดคณะอนุกรรมการสรรหาฯ ที่มี “นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นั่งหัวโต๊ะในฐานะประธานอนุกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 2 ราย ได้แก่ “พล.ท.ดร.กฤตภาส คงคาพิสุทธ์” อดีตรองเจ้ากรมการพลังงานทหาร และ “นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว” อดีตรองปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงพลังงานมานาน
ทั้งสองท่านจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ให้เข้าตากรรมการสรรหาฯ สิ่งสำคัญคือ การแสดงถึงความสามารถในเรื่องของการแก้ปัญหากองทุนน้ำมันฯ ที่ยังคงติดลบ และเงินกู้ยืมเพื่อมาเสริมสภาพคล่อง การจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีกำหนดจ่ายคืนครบทั้งหมดช่วงปี 2570-2571
โจทย์ใหญ่ของผู้อำนวยการคนใหม่ คงไม่ได้มีแค่การบริหาร “หนี้กองทุนน้ำมันฯ” ที่ปัจจุบัน (20 เม.ย.68) ลดลงเหลือ -52,513 ล้านบาท (แบ่งเป็นหนี้น้ำมัน -7,020 ล้านบาท และหนี้ LPG -45,493 ล้านบาท) เทียบกับปี 2567 ที่เคยติดลบสูงสุดกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ พบว่าสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ปรับตัวดีขึ้น จากการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งจากน้ำมันและก๊าซ LPG รวม 394 ล้านบาทต่อวัน แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันเบนซิน มีรายรับ 132 ล้านบาทต่อวัน กลุ่มน้ำมันดีเซล มีรายรับ 243 ล้านบาทต่อวัน และ LPG มีรายรับ 19 ล้านบาทต่อวัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังมีภาระทยอยชำระหนี้จากการกู้ยืมประมาณ 81,388 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน การสู้รบกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ และค่าเงินบาท ยังคงเป็นปัจจัยที่ยังไว้วางใจไม่ได้ จึงยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ดังนั้นแค่รักษาสมดุลระหว่าง “เสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง” กับ “ภารกิจดูแลค่าครองชีพ” โดยกองทุนน้ำมันฯ ทำหน้าที่เป็นเบาะรองรับแรงกระแทกจากความผันผวนของราคาน้ำมันโลกมาตลอดหลายทศวรรษยามน้ำมันดิบพุ่งทะยาน การที่ประเทศไทยยังสามารถรักษา “ความเรียบร้อยหน้าปั๊ม” ได้ ถือเป็นผลพวงจากการบริหารที่มีกลไกกองทุนน้ำมันฯ เป็นแกนหลัก ดูแลไม่ให้ราคาหน้าปั๊มพุ่งสปีดจนกระทบภาระค่าครองชีพประชาชน
นอกจากความสามารถด้านเทคนิคแล้ว ผอ.สกนช.คนใหม่ ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลากหลายทิศทาง ทั้งจากฝ่ายนโยบายที่ต้องการให้ราคาพลังงานสอดคล้องกับเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายประชาชนที่เรียกร้องให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่พอเหมาะกับค่าครองชีพ ตลอดจนแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามทางภาษีไปจนถึงดีมานด์ของเศรษฐกิจโลก บทบาทของกองทุนน้ำมันฯ จึงยิ่งทวีความสำคัญ การวางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนน้ำมันฯ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำควบคู่ไปกับการแก้โจทย์เฉพาะหน้า
ขณะเดียวกัน สังคมไทยในปัจจุบันยังมีความคาดหวังต่อเรื่อง “ความโปร่งใส” และ “ธรรมาภิบาล” ในการบริหารกองทุนสาธารณะมากขึ้น การสื่อสารและชี้แจงต่อสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่ผู้อำนวยการคนใหม่ต้องมี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า ทุกบาททุกสตางค์ของกองทุนน้ำมันฯ ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนอย่างแท้จริง
ท่ามกลางภารกิจ และความคาดหวัง ผอ.สกนช.คนใหม่ จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริบทด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ด้านการเงิน ด้านการบริหารจัดการ ตลอดจนต้องมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลพร้อมขับเคลื่อนกองทุนน้ำมันฯ ให้เดินหน้าได้ในระยะยาว เมื่อราคาพลังงานคือปัจจัยต้นทุนของทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งคณะอนุกรรมการสรรหาฯ ต้องคัดเลือกให้ได้ ผอ.สกนช.ที่มีความสามารถ เป็นที่ยอมรับในแวดวงพลังงาน และความเข้าใจในหัวใจของประชาชน จะเป็นคำตอบที่ประเทศไทยต้องการ
งานนี้ ! ความท้าทายจึงไม่ใช่แค่ “บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” แต่คือการ “บริหารความคาดหวังของคนไทยทั้งประเทศ”