จากกรณีพบผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลังมีการชำแหละซากโคในงานบุญผ้าป่าและแจกจ่ายเนื้อดิบให้ประชาชนในหมู่บ้านบริโภค ล่าสุด อ.พญ.อาทิตยา หลวงนรา อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อและเวชศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ให้ข้อมูลว่า โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis ซึ่งพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา ลาตินอเมริกา อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในสัตว์กินพืช เช่น โค กระบือ แพะ แกะ กวาง และละมั่ง

การติดเชื้อดังกล่าวเกิดจากการได้รับสปอร์ของเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางบาดแผล การหายใจ หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อน ซึ่งสปอร์ของเชื้ิอมีความทนทานอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานานโดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานฟอกหนัง ผู้เลี้ยงสัตว์ หรือผู้ที่สัมผัสผลิตภัณฑ์จากสัตว์โดยตรง ทั้งนี้ อ.พญ.อาทิตยา ย้ำว่า “โรคแอนแทรกซ์ไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้”

อาการของโรคแตกต่างกันตามช่องทางของการติดเชื้อ เช่น หากติดทางผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีตุ่มคันขนาดเล็ก ลุกลามเป็นแผลมีขอบแข็งสีดำคล้ายบุหรี่จี้ มักพบบริเวณมือ ใบหน้า คอ และแขน  ร่วมกับมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หากเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจ อาจมีไข้ ไอ  เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือหากเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร อาจมีไข้ เจ็บคอ กลืนลำบาก ท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือดได้

แม้ในประเทศไทยจะพบโรคนี้ไม่บ่อย แต่ยังมีรายงานเป็นระยะ โดยในปี 2543 พบผู้ป่วย 15 ราย ในพิจิตรและพิษณุโลก และในปี 2560 พบผู้ป่วย 2 รายที่แม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งติดเชื้อจากการชำแหละแพะนำเข้าจากเมียนมา ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการระบาด เช่น ลาวพบผู้ป่วย 129 รายในปี 2567 และเวียดนามพบผู้ป่วย 13 รายในปี 2566

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในประเทศไทย กรมควบคุมโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการสอบสวนโรค พบผู้สัมผัสรวม 247 ราย แบ่งเป็นผู้ชำแหละซากโค 28 ราย และผู้บริโภคเนื้อดิบ 219 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันเบื้องต้น พร้อมเดินหน้าควบคุมโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

อ.พญ.อาทิตยา เน้นย้ำว่า แม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรงในระดับประชาชนทั่วไปต้องกังวล แต่การป้องกันยังคงเป็นหัวใจสำคัญ โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือบริโภคซากสัตว์ที่ล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ห้ามชำแหละสัตว์ป่วย และเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างถูกต้อง

“โรคแอนแทรกซ์สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับมนุษย์ จึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและเฝ้าระวัง เพื่อความปลอดภัยของตนเองและชุมชน” อ.พญ.อาทิตยา กล่าว.

เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร
งานประชาสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

#โรคแอนแทรกซ์ #MedCMU #คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #แพทย์เชียงใหม่ #แพทย์มช #หมอสวนดอก #โรงพยาบาลสวนดอก #MedCMUในมือคุณ #สื่อสารองค์กรMedCMU