ทวี สุรฤทธิกุล

“ความเป็นเพื่อนเป็นญาติอย่างยิ่ง” คือความจริงในสังคมไทยที่เราให้ความสำคัญกับการนับญาติ และเพื่อนก็คือญาติที่สำคัญ ที่อาจจะคบหากันไปได้จนตลอดชีวิต

ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีความมั่งคั่งมาแต่โบราณ ในยุคที่อังกฤษมาล่าเมืองขึ้นได้เข้ามาทำให้เศรษฐกิจยิ่งเฟื่องฟู ด้วยการ “ตัดไม้” แต่นั่นก็ทำให้เศรษฐกิจฟุบในทันทีที่ป่าไม้หมดไป แต่ก็มีพืชเศรษฐกิจอย่างใหม่มาแทนที่คือยาสูบ ซึ่งในสมัยที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นไปเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง ใน พ.ศ. 2478 กิจการไร่ยาสูบและโรงงานแปรรูป “บ่ม” ใบยาสูบก็กำลังขยายตัวไปในหลาย ๆ จังหวัดทั่วภาคเหนือ ทั้งที่เชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของภาคเหนือ รายรอบออกไปที่ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน เนื่องด้วยมีการส่งออกใบยาสูบมากขึ้น และมีการบริโภคในประเทศมากขึ้น รวมถึงที่มีการตั้งโรงงานยาสูบของรัฐบาลอีกด้วย

เกษตรกรและผู้ค้ายาสูบคือลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องเดินทางไปพบลูกค้ากลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ ครั้งหนึ่งเดินทางไปที่จังหวัดแพร่ ก็ได้พบกับลูกค้าคนสำคัญคือ “พ่อเจ้าแสน วงศ์วรรณ” ผู้เป็นบิดาของนายณรงค์ วงศ์ววรณ (อดีต ส.ส.แพร่หลายสมัยและรองนายกรัฐมนตรี ในช่วง พ.ศ. 2522 - 2538) เพราะไม่เพียงแต่จะมีความสนิทสนมกันในทางธุรกิจแล้ว แต่ยังได้ให้ความช่วยเหลือกันมาจนถึงรุ่นลูกคือนายณรงค์นั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ยังมีเพื่อนแบบที่เรียกในสมัยนี้ว่า “ไฮโซ” ในภาคเหนืออีกเป็นจำนวนมาก และได้มีอุปการะมาจนถึงสมัยที่ท่านเล่นการเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงที่ได้เป็นแฟนคลับในครั้งที่ท่านทำหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2493 และช่วยเป็นลูกค้าอย่างแน่นหนาในภูมิภาคนี้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนชอบป่าเขามาตั้งแต่ครั้งที่ไปเรียนในประเทศอังกฤษ เมื่อมาเจออากาศที่เย็นสบายของภาคเหนือในจังหวัดลำปางก็ทำให้มีความสุข ในยามว่างท่านก็จะพักตากอากาศบนภูเขาในป่า สมัยนั้นบนดอยขุนตานเมื่อขึ้นไปจากสถานีรถไฟขุนตานที่เป็นปากอุโมงค์ด้านจังหวัดลำพูน จะมีทางเดินขึ้นเขาไปบ้านพักของการรถไฟที่ปลูกไว้ 4-5 หลัง และเริ่มมี “วีไอพี” อย่างท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปเช่าพัก ที่เขาขุนตานนี้จะแบ่งระดับความสูงเป็น 3 ระดับ คือ ย.1 อยู่ต่ำสุด เป็นเขตของการรถไฟ สูงขึ้นไปคือ ย.2 เป็นเขตที่อนุรักษ์เพราะติดกับอุทยานแห่งชาติขุนตาน แต่เดิมเป็นเขตสัมปทานป่าไม้ที่หมดสัญญาแล้ว แต่ก็ยังมีบ้านพักของ “นายห้างฝรั่ง” เมื่อสมัยที่ขึ้นมาทำป่าไม้อยู่จำนวนหนึ่ง และขึ้นไปสูงสุดคือ ย.3 ที่เป็นเขตหวงห้ามของทางราชการ (จำไม่ได้ว่าเป็นของทหารหรือกรมป่าไม้ แต่ห้ามประชาชนขึ้นไปอย่างเด็ดขาด)

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไปพักแล้วก็เกิดชอบบรรยากาศและอากาศที่นั่น เมื่อลงมาที่ลำปางท่านก็ได้ทราบว่าบ้านของนายห้างฝรั่งบางหลังนั้นเขาจะขายเพราะกำลังจะกลับบ้านเกิดของเขา ท่านจึงขอซื้อ โดยได้เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้บอกว่าซื้อมาราคาเท่าไหร่และเป็นเอกสารสิทธิอะไร แต่ภายหลังอสัญกรรมของท่านทราบว่าได้คืนให้กับทางราชการไปแล้ว แต่บางกระแสจากลูก ๆ ของท่านบอกว่าได้น้อมเกล้าฯถวาย “เจ้านาย” ไปแล้ว) แล้วท่านก็ปล่อยทิ้งไว้ จนเมื่อก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐแล้ว ท่านบอกว่าจึงพอมีเงินที่จะไปปลูกบ้านบนนั้น (ซึ่งเรื่องบ้านบนดอยขุนตานของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่มาก โดยเฉพาะกำเนิดของบทประพันธ์ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า “ชอบที่สุด” เรื่อง “ห้วงมหรรณพ” เพราะเป็นปรัชญาทางศาสนาพุทธร่วมกับวิชาการวิทยาศาสตร์ที่เขียนยากและมีเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ซึ่งจะได้นำมาเล่าเมื่อถึงโอกาสนั้น)

อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบมาก ๆ เกี่ยวกับภาคเหนือก็คือ “วัด” วัดทางภาคเหนือนั้นส่วนใหญ่จะมีขนาดกะทัดรัด ทั้งโบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ก็ไม่ใหญ่โตมโหฬาร มีขนาดแต่พอดี แบบที่เรียกตามคำพระว่า “สมถะ” แต่จะไปเน้นที่การประดับตกแต่งด้วยงานฝีมือที่ประณีตบรรจงอย่างที่สุด และที่แตกต่างจากวัดในภาคกลางหรือในกรุงเทพฯที่ท่านเคยเห็นก็คือ สิ่งก่อสร้างของวัดทางเหนือจะทำด้วยไม้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นการจำหลักลวดลายก็จะมีความละเอียดอ่อน แสดงถึงนิสัยใจคอที่นุ่มนวลอ่อนน้อมของคนภาคนี้ ทั้งยังสะท้อนถึงศรัทธาที่คนภาคนี้มีต่อศาสนาพุทธอย่างมากล้น ด้วยการประดับประดาตกแต่งบริเวณรอบ ๆ วัดอย่างสวยงาม อย่างเช่น ตุง(ธง)และโคมไฟต่าง ๆ รวมถึงพวกปูนปั้นจำพวกสัตว์หิมพาน เช่น สิงห์และหงส์ ก็สวยงามละเอียดอ่อน

ใน พ.ศ. 2525 ท่านกลับไปเยือนลำปาง นอกจากจะไปเยี่ยมธนาคารไทยพาณิชย์ที่ท่านเคยทำงานเป็นผู้จัดการเมื่อ พ.ศ. 2478 ถึง พ.ศ. 2483 นั่นแล้ว ท่านยังพาผู้เขียนไปเยือนวัดอีกหลายวัด ที่จำได้แม่นก็คือวัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อไปถึงท่านก็ไปสักการะพระเจดีย์และพระพุทธรูปในพระวิหาร จากนั้นก็มาตรงประตูด้านข้างโบสถ์ มาพบ “ตาแก่” คนหนึ่ง ท่านขอให้ตาแก่คนนั้นช่วยดูดวงให้ผู้เขียน ซึ่งก็ต้องตะลึงว่าดูแม่นมาก เพราะอธิบายอดีตของผู้เขียนได้ถูกต้องหลายเรื่อง พอถามถึงอนาคต ตาแก่ก็บอกว่าผู้เขียนต้องรับราชการ แล้วท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พูดขึ้นว่า “ใช่ ๆ เจ้านี่มันช่างประจบ คบกับทุกคนได้ง่าย น่ารับราชการ” ก่อนที่ตาแก่จะพูดต่อว่า “เออ ต้องได้เป็นถึงอธิบดีนั่นแหละ” (ซึ่งผู้เขียนก็แอบปลื้มในใจ แต่ชีวิตจริงแม้จะรับราชการ แต่ก็ไปในสายวิชาการ ส่วนตำแหน่งบริหารก็เคยเป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย มีบ่อยครั้งที่ต้องรักษาการเป็นอธิการบดี ซึ่งก็คงเทียบได้กับอธิบดีเหมือนกัน - ฮ่า ๆ) เมื่อดูเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็ถามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าท่านเคยดูดวงกับตาแก่คนนี้หรือ ท่านบอกว่าสมัยที่ท่านดูเมื่อมาทำงานที่นี่ก็ไม่ใช่หมอดูคนนี้หรอก แต่ตรงข้างประตูโบสถ์นี้จะมีหมอดูอยู่เป็นประจำ หมอดูที่ดูให้ท่านบอกว่าท่านจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมือง ซึ่งท่านก็ไม่เชื่อ แต่ที่สุดท่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วท่านก็หัวเราะชอบใจ

เวลา 6-7 ปีที่ท่านอยู่ที่ลำปาง ท่านยังพบว่าคนทางภาคเหนือ “รักพระเจ้าอยู่หัว” เป็นอย่างมาก ตอนนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่คนในกรุงเทพฯที่ท่านจากมาเหมือนจะแอบเชียร์คณะราษฎรอยู่พอสมควร แต่ที่ภาคเหนือนี้กลับแอบประณามอยู่ทั่วไป เหมือนกับว่าเจ็บแค้นแทนพระมหากษัตริย์ที่ถูกคณะราษฎรกระทำย่ำยี ซึ่งความจริงก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะแม้ว่าอาณาจักรล้านนาจะตั้งขึ้นมาก่อนอาณาจักรใด ๆ ในแผ่นดินสุวรรณภูมินี้ และเคยมีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่หลายพระองค์ เคยเป็นเมืองขึ้นทั้งไทยและพม่า แต่เมื่อไทยยึดครองล้านนาได้จากพม่าในรัชสมัยพระนเรศวรมหาราชนั้น ไทยก็ทะนุบำรุงหัวเมืองทางเหนือเป็นอย่างดี พร้อมกับให้พระเกียรติยศแก่บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ เป็นอย่างดี จนมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯก็ได้ส่งเสริมสถานะให้แก่บรรดาเจ้าทางเหนืออย่างสูงส่ง ให้มีพระยศเสมอด้วยพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ อย่างเช่น กรณีเจ้านครเชียงใหม่ที่ได้ถวายพระราชธิดา คือเจ้าดารารัศมี มาเป็นพระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือว่ามีพระเกียรติยศเสมอกัน (แต่ภายใต้ระบบราชการแบบมณฑลเทศาภิบาลก็ได้ถ่ายเทอำนาจทางการปกครองมาสู่ระบบราชการในส่วนกลาง แต่กระนั้นพระเกียรติยศในฐานะพระมหากษัตริย์ของเจ้าครองนครทางเหนือก็ยังคงเดิม จนกระทั่งค่อย ๆ เปลี่ยนไปเมื่อภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น)

สมัยนั้นรูปถ่ายหรือพระบรมฉายาลักษณ์ยังหายากทั้งยังมีราคาค่อนข้างสูง บ้านคนที่มีฐานะหลายบ้านจึงจะมีไว้บูชา แต่ก็ยังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และ 6 เป็นส่วนใหญ่ สำหรับบ้านชาวบ้านทั่วไปก็บูชาพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯเหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์มาขึ้นหิ้งบูชา ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า บางบ้านก็ตั้งหิ้งบูชาเปล่า ๆ หันมาทางทิศใต้ที่หมายถึงกรุงเทพฯ แล้วก้มกราบพร้อมกับออกพระนาม เรียก “พ่อหลวง” ไปทุกบ้าน เพราะยังไม่แน่ใจว่าใครคือผู้ปกครองบ้านเมืองในเวลานั้น คือเหมือนมีความรู้สึกว่าบ้านเมืองยังไม่สงบ โดยที่หลายคนก็อยากให้คณะราษฎรนั้นคืนอำนาจให้พระมหากษัตริย์

การบูชาด้วยหัวใจนั้นยิ่งใหญ่กว่าการบูชาอื่นใด นี่คือหัวใจของคนไทยในภูมิภาคนี้ในยุคนั้น