ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ

ท่ามกลางกระแสคัดค้านที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลก็พยายามจะผลักดันร่างกฎหมายกาสิโนออกมาให้ได้ ภายใต้สวมเสื้อคลุม ‘เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์’ เพราะมีการตกลงผลประโยชน์กับบริษัทเอกชนในชาติและข้ามชาติเอาไว้แล้วหรือเปล่า-ไม่ทราบได้ จึงได้ดิ้นรนสุดฤทธิ์ ความอับอายไม่ต้องพูดถึง

คนในพรรคเพื่อไทยพูดเหมือนถูกสะกดจิตหมู่ก็คือ คาสิโนเป็นแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของโครงการเอ็มเทอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งจริงๆแล้ว อาจจะเป็นคำบัญชาจากผู้มีบารมีเหนือพรรค และหนึ่งในข้ออ้างที่ถูกยกมาพูดกันบ่อยครั้งคือ การมีสถานที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการจัดคอนเสิร์ทระดับโลก

ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้ติดตาม หรือไม่ได้เป็นนักดูคอนเสิร์ท ก็อาจจะหลงเชื่อเอาง่ายๆ โดยมีคอนเสิร์ท เทย์เลอร์ สวิฟท์ ที่จัดหลายรอบในสิงคโปร์เมื่อปี 2567 มักถูกยกมาเป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ ว่าสามารถดึงดูดผู้ชมจากต่างประเทศให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเงินทองในประเทศได้มากมาย หากเรามีสถานที่ขนาดใหญ่พอ ศิลปินระดับโลกอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟท์ ก็จะสามารถมาเปิดคอนเสิร์ทในบ้านเราได้

ซึ่งรายได้เข้าประเทศสิงคโปร์จากคอนเสิร์ทของ เทย์เลอร์ สวิฟท์ เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศก้าวกระโดดไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้า คนรับเงินบึ้มๆตัวจริงคือ น้องเทย์ ไม่ใช่สิงคโปร์

ความจริงอย่างแรกก็คือ เทย์เลอร์ สวิฟท์ ไม่ได้มาเปิดคอนเสิร์ทบ้านเรา เพราะโปรโมเตอร์คอนเสิร์ทของสิงคโปร์ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล ทำสัญญาผูกมัดเอาไว้ไม่ให้ เทย์เลอร์ สวิฟท์ เปิดคอนเสิร์ทในประเทศอื่นใดในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และถ้ารวมทั้งเอเซียก็มีญี่ปุ่นอีกเพียงประเทศเดียว

ยิ่งกว่านั้น เทย์เลอร์ สวิฟท์ ไม่ใช่ศิลปินระดับโลกรายเดียว ยังมีศิลปินระดับโลกอีกมากมายที่มาเปิดคอนเสิร์ทในบ้านเมืองไทย อย่าง เลดี กากา, โคลด์เพลย์, มารูน 5, เจมส์ บลันท์, แบล็คพิงค์, เดอะ สคริปท์ เป็นต้น

หรือถ้าจะย้อนไปในอดีต ศิลปินระดับโลกที่ไม่ได้มาเปิดคอนเสิร์ทในเมืองไทยเกือบจะไม่เหลือแล้ว มากันตั้งแต่เบอร์ใหญ่ๆ อย่าง ดิ อีเกิ้ลส์, เอริค แคลปตัน, ซานตาน่า, โรเจอร์ วอเทอร์ส, ควีน, สคอร์เปี้ยนส์, เมทัลลิก้า, กันส์ แอนด์ โรเซส ฯลฯ รวมถึงศิลปินต่างประเทศที่มีกลุ่มคนฟังแยกเฉพาะอีกมากมาย เช่น ร็อคหนักๆ หรือ เค-ป๊อป

ศิลปินไทยเองก็มีคอนเสิร์ทตามที่ต่างๆกันตลอดทั้งปี จนน่าเชื่อว่า ถ้า กินเนสส์ บุ๊ค อ็อฟ เรคอร์ดส์ สำรวจจริงจัง ไทยเราอาจจะถูกบันทึกว่า เป็นประเทศที่มีเทศกาลดนตรีมากที่สุดในโลก

นั่นเชื่อมโยงมาถึงความจริงอีกอย่าง คือ ประเทศไทยมีสถานที่จัดคอนเสิร์ทระดับใหญ่อยู่แล้ว ทั้งระดับอารีน่าและสเตเดี้ยม หรือจะให้จริงกว่านั้นก็คือ ตอนนี้ประเทศไทยมีสถานที่ หรือจะดัดจริตเรียกแบบฝรั่งว่า venue ขนาดต่างๆอยู่มากมายที่จะรองรับคอนเสิร์ททุกระดับ เอาเฉพาะกรุงเทพฯก็นับกันไม่หวาดไม่ไหว

ในช่วงสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีการสร้างสถานที่จัดงาน รวมทั้งคอนเสิร์ทฮอลล์ เกิดขึ้นมากมายแทบจะทั่วทุกมุม ตามศูนย์สรรพสินค้าใหญ่ๆก็มีฮอลล์จัดคอนเสิร์ทตั้งแต่รองรับผู้ชมหลักพันต้นๆไปจนถึง 4-5 พันคน และมีสนามกีฬาอีกหลายแห่งที่พร้อมให้เช่าทำคอนเสิร์ทใหญ่ๆ นอกจากนี้ยังเวทีขนาดย่อมๆสำหรับจัดคอนเสิร์ทกระจายอยู่ตามหน่วยงานของรัฐ, โรงแรม, คลับ และพวกสแตนด์อะโลนอีกนับไม่ถ้วน

ทุกวันนี้ ถ้าไม่นับศูนย์รวมใหญ่ในการจัดงาน อย่าง เมืองทองธานี, ไบเท็ค บางนา หรือ ศูนย์สิริกิติ์ ฝ่ายขายของสถานที่จัดงานแต่ละแห่งก็วิ่งหางานเข้ากันหูตูบ น้ำลายเหนียว บางแห่งมีคอนเสิร์ทไปจัดแค่ไม่กี่ครั้งในปีหนึ่งๆ บางแห่งต้องไปชวนพรรคพวกมาช่วยจัดกิจกรรมให้เกิดความเคลื่อนไหว เป็นการเรียกแขก

ภาษาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นก็ต้องว่า ซัพพลายมากกว่าดีมานด์

ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าบ้านเราไม่มีสถานที่จัดคอนเสิร์ทระดับโลกจึงไม่มีน้ำหนัก เช่นเดียวกับสถานที่ให้ความบันเทิงที่บ้านเรามีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ไม่จำเป็นต้องมีเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ให้ซ้ำซ้อนแต่อย่างใด

จึงน่าสงสัยว่า พลพรรคเพื่อไทยที่ออกมาประสานเสียงกันเรื่องนี้เหมือนไม่รู้ว่าบ้านเรามีอะไรบ้างนั้น ถ้าไม่โง่ก็โกหก แต่สังหรณ์ใจว่าจะเป็นอย่างหลัง