ศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2568 ปฏิทินจันทรคติไทย ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง
00.. กิจกรรมการงานกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ประสพ เรียงเงิน ปลัดก.วัฒนธรรม เข้ากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเยี่ยมชมวัดพระยืน จ.ลำพูน พร้อมด้วยคณะ โดยมีพระอธิการสิริพงศ์ ปัญญาชโย เจ้าอาวาสวัดพระยืน นำชม
00.. “วัดพระยืน” เรียกตามปูชนียวัตถุสำคัญที่อยู่ในวัด คือพระยืน(พระพุทธรูปยืน) กล่าวถึงตอนที่พระญากือนาได้อาราธนานิมนต์พระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัย เพื่อมาเชียงใหม่ โดยได้พักที่วัดพระยืน ในเมืองหริภุญชัย ราว พ.ศ. 1912 ซึ่งขณะนั้นได้มีพระยืน 1 องค์อยู่ก่อนแล้ว แต่บริเวณนั้นเป็นป่า พระญากือนาจึงให้คนไปแผ้วถาง แล้วสร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก 3 องค์ โดยองค์หนึ่งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ และอีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ และสร้างมณฑปครอบพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 องค์นี้ไว้ ต่อมามณฑปที่ได้สร้างไว้นั้นทรุดโทรมและปรักหักพังลง ส่วนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานในมณฑปคงเหลือที่สมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันออกองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้นในสมัยของเจ้าหลวงอินทยงยศ จึงได้ให้หนานปัญญาเมือง ชาวบ้านหนองเส้ง ซึ่งเป็นช่างประจำคุ้มหลวงเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างครอบของเดิมที่ปรักหักพังไป แล้วให้นำเอาอิฐ หิน และดินที่พังลงมานั้น ใส่ถมพระมณฑปองค์เดิมที่มีพระพุทธรูปยืนเหลือเพียงองค์เดียวนั้นจนหมดสิ้น มณฑปองค์ใหม่นี้ ทำจากศิลาแลงและอิฐบางส่วน และประดับลวดลายปูนปั้น ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงกว่าเดิมมาก มีบันไดที่ตกแต่งด้วยเหงาทอดขึ้นสู่มณฑปทั้ง 4 ด้าน บนมณฑปมีลานทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ หรือเจดีย์บริวาร ถัดจากฐานมีเรือนธาตุย่อเก็จ และซุ้มจระนำ 4 ด้าน โดยยึดรูปแบบคล้ายกับองค์เดิมที่สร้างในสมัยของพระญากือนา แต่ละซุ้มประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปยืน เหนือขึ้นไปเป็นมาลัยเถาสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น และมีมุมประดับด้วยสถูปิกะ ส่วนยอดประดับด้วยฉัตร นอกจากนั้นยังมียอดเล็กๆ ที่ประดับรอบยอดใหญ่อีก 4 ยอด อย่างไรก็ตามกล่าวกันว่ารูปลักษณะของมณฑปวัดพระยืนนี้ คล้ายกับมณฑปสัพพัญญูในเมืองพุกามประเทศพม่า ทั้งนี้คงเนื่องมาจากชาวพม่าเข้ามาอาศัยในล้านนา ได้มีส่วนสร้างหรือสนับสนุนในการบูรณะมณฑปพระยืนแก่หนานปัญญาเมือง
00.. ฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดก.วัฒนธรรม ร่วมเป็นเกียรติเปิดงานเทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 9 ณ ศูนย์ศิลปะวิถี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 พ.ค. 68 กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) ได้สนับสนุนการจัดงาน เพื่อนำเอาศิลปะร่วมสมัยมาสร้างคุณค่าและมูลค่าสู่ชุมชน สร้างเศรษฐกิจรายได้ที่เป็นรูปธรรมสู่ชุมชน กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย การแสดงแสง สี เสียง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ดนตรี และการออกร้านตลาดวิถีชุมชน
00.. ลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เยี่ยมชมร้านคุณอู๋ไหมไทย ต.เวียงยอง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน โดยมีนิภาพรรณ สิงห์ศักดิ์ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลงาน นอกจากเป็นร้านขายผ้าไหมยกดอกที่มีหลากหลายลวดลาย งดงาม จากมรดกหัตถกรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการสาธิตการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายและเส้นใยอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์สืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาให้สามารถคงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน
00.. โทรโข่ง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประกาศผลการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการการพัฒนาการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยเพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รอบที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ดูประกาศได้ที่เว็บไซต์ www.ocac.go.th แล้วพบข่าวสารจิปาถะวัฒนธรรมกันใหม่ ..00
เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ 9 ณ ศูนย์ศิลปะวิถี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง
ผ้าไหมยกดอกลำพูน แหล่งเรียนรู้จากมรดกหัตถกรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น