ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) เปิดเผยว่า การจัดการศึกษาของคนพิการควรเริ่มต้นจากการมีทัศนคติหรือมุมมองที่ถูกต้องต่อคนพิการของกลุ่มคนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหาร ครูผู้สอน พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อนนักเรียน และสังคมโดยรวม เช่น การมองมนุษย์ทุกคนมีคุณค่า ทุกคนควรได้ใช้ชีวิตเต็มศักยภาพ เป็นต้น การมีทัศนคติหรือมุมมองที่ถูกต้องจะนำสู่แนวทางการดำเนินการภาคปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์กับคนพิการอย่างแท้จริง
ผมเสนอกรอบแนวคิดสำหรับการจัดการศึกษาของคนพิการที่เรียกว่า โมเดลเสมอสภาพ 3ส (Dr.Dan’s 3E Equality Model) เพื่อให้การดำเนินงานมีความครอบคลุมครบถ้วน ส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค ในสังคมไม่มีคนถูกทอดทิ้ง คนพิการทุกคนที่ต้องการได้รับการศึกษาต้องเข้าถึงการศึกษา
เสมอภาพ : เน้นปัจจัยนำเข้า เพื่อ เสมอภาคแบบไม่ลำเอียง (ไม่เลือกปฏิบัติ) (Equitation is Input Oriented with Equality in Non-Discrimination.) บนพื้นฐานการยอมรับความแตกต่างและการเห็น “คุณค่า” ของคนพิการอย่างแท้จริง การจัดสรรทรัพยากรทุกอย่างควรให้มีความครอบคลุมและคำนึงถึงประโยชน์ของคนพิการทุกประเภท เช่น งบประมาณ บุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวกทางการเรียนรู้ การบริการทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นต้น การสร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรประชาสังคม และองค์กรเอกชน ในท้องถิ่นจัดการศึกษาให้แก่คนพิการ เปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้แก่คนพิการ ช่วยลดอุปสรรคทางด้านการเดินทาง เป็นการนำทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด เช่น การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) การศึกษาออนไลน์ (Online Education) เป็นต้น
เสมอภาส : เน้นกระบวนการ เพื่อ เสมอภาคแบบให้โอกาส (สว่างแจ้ง) (Equatry is Process Oriented with Equality in Opportunity.) เช่น โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล เป็นต้น กระบวนการการจัดการศึกษาควรให้มีความเป็นมิตรกับคนพิการ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ของคนพิการ เป้าหมายทำให้กระบวนการจัดการศึกษาของคนพิการมีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของคนพิการมากที่สุด เช่น การศึกษาจากกรณีศึกษาที่ดีที่สุด (best practice) นำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ประเทศไทยมิใช่ประเทศแรกและประเทศเดียวในโลกที่มีการจัดการศึกษาของคนพิการ ดังนั้น ควรเรียนรู้ต่อยอดจากกรณีศึกษาที่ดีที่สุด การใช้กระบวนการเปรียบเทียบคุณภาพ (benchmarking) เปรียบเทียบการจัดการศึกษาของคนพิการกับประเทศต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ดีมีคุณภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เป็นต้น
เสมอภาค : เน้นผลลัพธ์ เพื่อ เสมอภาคแบบยุติธรรม (แต้มต่อ) (Equity is Outcome Oriented with Equality in Justice.) บนพื้นฐานความคิดที่ว่าคนอ่อนแอและคนด้อยโอกาสในสังคมควรได้รับการดูแล การช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน การทำดีกับทุกคนไม่ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ต่างตอบแทน การจัดการศึกษาควรเห็นแก่ประโยชน์ของคนพิการเป็นสำคัญ แม้จะต้องให้แต้มต่อหรือต้องทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากการจัดการศึกษาปกติ เพื่อช่วยให้คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการสามารถพึ่งตนเองได้มากที่สุด เช่น การออกแบบการจัดการศึกษาของคนพิการให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นสูง เหมาะสมกับประเภทของความพิการ เป็นการตัดเสื้อพอดีตัวคนพิการ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด เป็นต้น
“การจัดการศึกษาของคนพิการในประเทศไทยควรเริ่มต้นตั้งแต่การมีมุมมองหรือทัศนคติที่ถูกต้องต่อคนพิการ โดยให้การศึกษาเป็นเครื่องมือช่วยคนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขไม่มีใครอยากใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวดและโดดเดี่ยว มาร่วมกันทำให้โลกนี้สวยงามสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนที่แข็งแรงเท่านั้น ”