"อดีตผู้ว่า สตง."เข้าแจง"กมธ.ป.ป.ช." รับเป็นผู้เลือกพื้นที่ก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ แต่ไม่เกี่ยว"ออกแบบ" เหตุพ้นตำแหน่งไปแล้ว แจงร่วมเฟรมกับ 2 นายทุนจีน ดูไม่ออกว่าเป็นใคร-มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ยันรู้แค่มี"อิตาเลียนไทย-ไชน่าเรลเวย์"ร่วมค้า ด้าน “ปธ.กมธ.ป.ป.ช.” ยันไม่มีใครสามารถปรักปรำ ทำร้าย “ผู้ว่าฯสตง.” ย้ำขอให้พูดความจริง


เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 รัฐสภา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (อดีตผู้ว่า สตง.) ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมชี้แจงต่อ กมธ.ฯ กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า ขั้นตอนก่อนที่ตนจะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อเราได้ที่ดินจะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาใช้หรือออกแบบใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา เดิมเราตั้งใจว่าเมื่อหาที่ตั้งเหมาะสมได้แล้ว หนีปัญหาน้ำท่วมเดินทางไกลได้แล้ว ก็นำพื้นที่กว้างๆ มาลงแปลนที่ได้ออกแบบ ก็เป็นอันพอใจแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นไม่สามารถดูแลได้ เนื่องจากตนพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว


นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า การที่ตนเดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ.ฯ ในวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่าทั้งก่อนที่จะมีการออกแบบก่อสร้าง จากผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ตนในฐานะอดีตผู้ว่า สตง.ปี 2557 - 2560 ก็มีส่วนเลือกและกำหนดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่

เมื่อถามถึงการปรากฏภาพที่ถ่ายร่วมกันกับ นายบิงลิน วู และ นายหลง เฉวียนวู นักธุรกิจชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง สตง. นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างหลักคือบริษัทอิตาเลียนไทย ส่วนบริษัทไชน่าเรลเวย์ เป็นผู้ร่วมค้า

"การจะไปถ่ายรูป มีภาพร่วมกันและบุคคลนั้นชื่ออะไร ถ้าบุคคลในสังคมไม่มีประเด็น ผมก็ดูไม่ออกว่าเป็นใคร มาในฐานะอะไร หรือสมอ้างเข้ามาถ่ายรูป ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ดูจากสายตาหากปกติไม่มีเหตุอันควรสงสัยเราอาจจะไม่ได้เอะใจว่าคนพวกนี้จะมายืนข้างๆ ล้อมหน้าล้อมหลัง หรือมีประโยชน์ทับซ้อนอย่างอื่นหรือไม่" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ช่วงที่พูดถึงคือช่วงที่ได้ผู้รับจ้างที่เป็นกิจการร่วมค้าแล้ว ซึ่งกิจการร่วมค้าอยู่ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ สามารถมีกิจการร่วมค้าได้ แต่บริษัทต้องมีผลงานไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ แต่ผู้ร่วมค้าต้องเป็นบริษัทคนไทย จดทะเบียนในประเทศไทย สามารถทำสัญญาร่วมค้ากันได้และนำมาเสนอราคาต่อได้ ส่วนจะมีนอมินีแอบแฝงในกิจการค้านี้หรือไม่ ในขณะนั้นยังไม่มีระเบียบกำหนดว่าจะต้องไปตรวจสอบลึกถึงกิจการของนอมินีขนาดนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่มมาขนาดพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มาทำหน้าที่แล้ว อาจจะมีการจับกุมตัว แต่ไม่สามารถส่งฟ้องได้ สะท้อนว่า ถ้าจะตรวจสอบเรื่องนอมินีไม่ใช่จะตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องพิสูจน์เรื่องเส้นทางการเงิน เพราะตามระเบียบกำหนดว่า ผู้แข่งขันประมูลโครงการ มีการฮั้วงานในลักษณะสมยอม เอื้อกันถือหุ้นไขว้ไปมา เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแล้วมาแข่ง เชื่อว่าจะต้องตรวจสอบเรื่องเหล่านี้แน่นอน

"ยืนยันว่า เรื่องการออกแบบ ผมไม่เกี่ยวข้อง เพราะพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกเสร็จสิ้น แต่การออกแบบเกิดในปี 2561 - 2562 มีการทำสัญญาในปี 2563 - 2564 ซึ่งต้นเองได้พ้นจากตำแหน่งไป 3 - 4 ปีแล้ว

ด้าน นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ว่า ฯสตง. พร้อมคณะ จะเดินทางมาด้วยตนเอง ซึ่งตนได้เรียนไปในเบื้องต้นว่า ต้องให้ความกระจ่างกับสภา เนื่องจากมีประชาชนสงสัยจำนวนมาก การประชุมในวันนี้ เพื่อสอบหาข้อเท็จจริง วันนี้จึงเป็นเวทีที่ท่านต้องพูดกับสภา เชื่อว่าข้อมูลที่เรามีการคาดการณ์ไว้ทั้งหมดนั้น จะได้ฟังจากปาก ผู้ว่า ฯสตง. ซึ่งในวันนี้ ได้มีการเชิญอดีตผู้ว่า ฯสตง.มาเป็นที่ปรึกษาด้วย บุคคลที่มาในวันนี้ ต้องให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็อยู่ระหว่างการสอบสวน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอง ก็อยู่ระหว่างสืบหาข้อเท็จจริง แต่หน่วยงานที่จะให้ข้อเท็จจริงได้ คือ ผู้ว่าฯ สตง.

“วันนี้เรามีคำถามจากคณะกรรมาธิการฯจำนวนมาก ซึ่งทุกคนอยากรู้ข้อเท็จจริง เนื่องจากแต่ละคนก็มีข้อมูลจากหลายแหล่ง โดยวันนี้ข้อมูลทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่เดียวว่า ผู้ว่า ฯสตง.จะให้คำตอบอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือข้อเท็จจริง สามารถพูดความจริงในคณะกรรมาธิการฯ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถปรักปรำ หรือทำร้ายท่านได้ ให้ท่านได้พูดความจริงในฝั่งของท่าน สิ่งที่ไม่สามารถพูดในที่สาธารณะ ก็สามารถพูดในคณะกรรมาธิการฯ ได้ในทางลับ” นายฉลาด กล่าว
นายฉลาด กล่าวต่อว่า  คำถามส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น เรื่องข้อมูลการบริหารสัญญา ที่มีการตอบเป็นเอกสารมา ในเชิงลึกคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมมา ทุกคนให้ความสนใจในการหาข้อเท็จจริง ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นประโยชน์ของประชาชน

นายฉลาด กล่าวต่อว่า สำหรับโครงสร้างการก่อสร้างนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันอยู่แล้ว ตามเอกสารที่ปรากฏ แต่นอกจากนั้น จะมีเรื่องการบริหารสัญญา การใช้วัสดุก่อสร้างจริงหรือไม่ตามที่เป็นข่าว และจากกรณีตึกถล่มที่ทำให้เกิดฝุ่นเยอะนั้น เราก็สงสัยว่า ส่วนผสมของปูนซีเมนต์ มีสัดส่วนเท่าไหร่ รวมถึงวิศวกรผู้ควบคุมงาน ที่มีข่าวว่า ไม่ได้ควบคุมโดยตรง มีเพียงชื่อ รวมถึงคนออกแบบด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ตรวจสอบคนอื่น วันนี้สภาได้มีโอกาสตรวจสอบท่าน และท่านต้องตรวจสอบตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มีจุดบกพร่อง จุดอ่อน ตรงไหน เพื่อเป็นอุทาหรณ์อย่างดียิ่ง ซึ่งสภาจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าเชิญรมว.อุตสาหกรรม มาชี้แจงเรื่องอะไร นายฉลาด กล่าวว่า จะมีการสอบถามเรื่องคุณภาพเหล็ก ซึ่งผู้ประกอบการ อาจมีวิธีการซิกแซก เวลาก่อสร้างเอาเหล็กที่มีคุณภาพผ่าน มอก.ไปตรวจสอบก่อนการก่อสร้าง แต่อาจใช้อีกหนึ่งประเภทในการก่อสร้าง ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบก็ได้ อยู่ที่การควบคุมงาน และต้องผ่านการรับรองในเบื้องต้น เนื่องจากภายหลังเกิดเหตุ มีการนำเหล็กไปตรวจสอบ แล้วไม่ตรงตามที่ยืนยัน จึงต้องสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิต และสอบถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่ามีมาตรการในความควบคุมขนาดไหน มีมาตรฐานขนาดไหน สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการคนไทยและต่างชาติได้หรือไม่ ว่าการดำเนินการของเราเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.