วันที่ 30 เม.ย.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2568 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หัวหน้าส่วนราชการและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ชี้แจงต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ระหว่างการอภิปรายญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร เนื่องจาก กทม.รับโอนภารกิจดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาอยู่ในความรับผิดชอบ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2546 แต่ปัจจุบันยังไม่มีศูนย์ฝึกอบรมที่เป็นศูนย์กลางในการอบรมดับเพลิงและกู้ภัยให้แก่ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเป็นศูนย์ฝึกอบรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่หน่วยงานภายใน กทม. และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน อาสาสมัครต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดอัคคีภัย

โดย กทม.เสียค่าฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยให้แก่หน่วยงานภายนอกปีละ 130 ล้านบาททุกปี ขณะที่เหตุภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น สะพานถล่ม ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ตึกถล่ม โป๊ะล่ม ไฟไหม้รถบัส เป็นต้น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ล้วนมีบทบาทสำคัญในทุกเหตุการณ์ ควรได้รับการฝึกฝนให้พร้อมช่วยเหลือ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นได้เมื่อประสบภัย โครงการดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ

ที่ผ่านมา กทม.ได้ของบประมาณจากสภา กทม.ไปแล้ว เพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าว พร้อมจ้างที่ปรึกษาโครงการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน 36 ล้านบาท ในการออกแบบการก่อสร้างโครงการที่ ต.ท่าตลาด อ.สามพราน จ.นครปฐม เนื้อที่ 58 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของ กทม. ตลอดจนมีการประกวดราคาหาผู้รับจ้างไปแล้ว คือ บริษัทงามวงศ์วานการช่าง จำกัด แต่ปัจจุบัน กทม.ได้ยกเลิกการก่อสร้างที่ จ.นครปฐม โดยมีแผนก่อสร้างโครงการบริเวณพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้มหานคร สถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร (หนองจอก) บนพื้นที่ 38 ไร่ ทำให้บริษัทงามวงศ์วาน จำกัด ฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านบาท เนื่องจากได้ดำเนินการประกวดราคามาตามขั้นตอนแต่กลับถูกยกเลิกภายหลัง พร้อมนำเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.

จากกรณีนี้ จึงกังวลว่า การย้ายโครงการมาก่อสร้างในเขตหนองจอกจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และยังจัดการไม่จบ รวมถึง แผนก่อสร้างโครงการที่หนองจอกมีลักษณะเดียวกับแบบก่อสร้างที่ จ.นครปฐม แต่พื้นที่มีขนาดต่างกันถึง 20 ไร่ โดยมีการตัดการก่อสร้างศูนย์ฝึกกู้ภัยทางน้ำตามแผนเดิมออก กทม.ให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า พื้นที่โครงการใน จ.นครปฐม ยังไม่มีการทำ EIA (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ขณะเดียวกัน พื้นที่โครงการในเขตหนองจอกก็ยังไม่มีการทำ EIA เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องสีของผังเมือง ซึ่งได้รับการตอบกลับจากกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วว่า พื้นที่โครงการใน จ.นครปฐม ดังกล่าว สามารถก่อสร้างได้ จึงไม่แน่ใจว่าเหตุผลในการย้ายโครงการเพียงพอหรือไม่ อาจเกิดผลกระทบตามมาและทำให้การก่อสร้างโครงการล่าช้าออกไปอีกได้

"อยากฝากว่าหากศาลตัดสินให้ไปสร้างที่จังหวัดนครปฐมต่อจะทำอย่างไร ขณะที่เราก่อสร้างที่หนองจอกไปแล้วจะทำอย่างไร ในมุมมองกลับกันหากไปคุยกับทางโน้นแล้วไม่มีปัญหาจะดีกว่าไหม" นายสุทธิชัย กล่าว

นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ฝ่ายบริหาร กทม.ของบประมาณโครงการตั้งแต่ปี 2566 โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ สภา กทม.จึงเห็นชอบให้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งก่อนที่จะมีการของบประมาณและเห็นชอบให้ดำเนินการ ได้มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 36 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการโดยละเอียดตั้งแต่สมัยผู้บริหาร กทม.ยุคก่อนแล้ว เป็นเหตุผลให้โครงการเริ่มต้นขึ้น เพราะผลการศึกษาสรุปว่าเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากสำนักการโยธาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมีการประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2565 ตลอดจนวันที่ 10 ต.ค.2565 สำนักการโยธา ได้มีหนังสือเชิญผู้ชนะการประกวดราคาคือ บริษัทงามวงศ์วานการช่าง จำกัด มาพบที่สำนักการโยธา เพื่อเจรจาเรื่องราคาก่อสร้าง จากนั้นไม่นานจึงทราบว่ามีการยกเลิกโครงการ

จากการสอบถามเหตุผลในการยกเลิกโครงการจากฝ่ายบริหาร กทม. ได้รับคำตอบว่า ผังเมืองบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว สร้างไม่ได้ ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองบอกว่าโครงการระยะที่ 1 สามารถก่อสร้างได้ ไม่ติดขัด จะมีเฉพาะส่วนการก่อสร้างศูนย์นันทนาการเท่านั้นที่สร้างไม่ได้ เพราะไม่ถูกต้องตามหลักผังเมือง ซึ่งเป็นส่วนก่อสร้างที่สามารถปรับแก้หลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ การก่อสร้างระยะที่ 1 ไม่ต้องขอ EIA แต่ระยะที่ 2 ต้องขอ หากยกเลิกโครงการโดยอ้างว่าอาจจะทำ EIA ไม่ทัน และอาจจะสร้างความเสียหายให้ กทม.นั้น หากดูจากระยะเวลาก่อสร้างระยะที่ 1 กว่า 900 วัน เพียงพอให้ทำ EIA ได้ ซึ่งการอ้างเหตุผลอย่างนี้ ต่อไปการของบประมาณก่อสร้างอาจต้องทำ EIA ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะอนุมัติงบประมาณได้

นายนภาพล กล่าวต่อไปว่า การยกเลิกโครงการต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 มาตรา 67 ประกอบด้วย 1.หน่วยงานรัฐนั้นไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ แต่โครงการดังกล่าว ได้รับงบประมาณไปแล้ว 2.มีการทุจริตหรือประกวดราคาไม่ถูกต้อง หรือไม่เสนอราคาอย่างเป็นธรรม 3.การจัดซื้อจัดจ้างต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อสาธารณะ ซึ่งการอ้างเหตุผลในการยกเลิกโครงการว่าทำ EIA ไม่ทัน ไม่เข้าเงื่อนไขในการยกเลิกโครงการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

"ท่านใช้กฎหมายข้อไหนในการยกเลิกโครงการ แล้วบริษัทที่ฟ้อง 50 ล้านพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งศาลรับฟ้องแล้ว หากศาลพิพากษาให้ กทม. รับผิดชอบ โดยมี กทม. จำเลยที่1 ผู้ว่าฯกทม.จำเลยที่2 ใครจะรับผิดชอบ นอกจากนี้เขายังฟ้องให้กทม. ดำเนินการตามกระบวนการเดิม เซ็นสัญญาให้เขา ซึ่งโครงการที่หนองจอก ดำเนินการไปถึงไหนแล้วไม่ทราบ จ้างที่ปรึกษาโครงการหรือยัง หากจ้างแล้วเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ" นายนภาพล กล่าว

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สำคัญ เรื่องที่อยู่ในศาลคงไม่ก้าวล่วง ขอยืนยันว่าได้คิดรอบคอบแล้วว่าไม่เกิดผลกระทบต่อ กทม. น่าจะเกิดประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานคร การยกเลิกได้สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ทุกคนให้ความเห็นตรงกัน ว่าอยู่ในกรอบกฎหมายที่ทำได้ ซึ่งการก่อสร้างที่หนองจอกได้รับงบประมาณปี 2568 จากสภา กทม. แล้ว

"ขอบพระคุณสำหรับญัตตินี้ จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับโรงเรียนฝึกกู้ภัย เรื่องนี้มีก่อนที่พวกเราเข้ามา ตั้งต้นมาตั้งนานแล้ว ฟังอภิปรายนึกว่าอยู่ในศาล เรื่องที่อยู่ในศาลเราคงไม่ก้าวล่วง รายละเอียดต่าง ๆ คงไม่ชี้แจง เพราะต้องไปชี้แจงในศาลอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วท่านผู้อภิปรายอาจจะเป็นพยานให้ฝั่งโน้นได้เลยนะ ถ้าอภิปรายอย่างนี้" นายชัชชาติ กล่าว

นายวิศณุ กล่าวว่า เรื่องผังเมืองคงต้องต่อสู้ในศาลว่ามีความผิดหรือไม่อย่างไร เหตุผลสำคัญในการย้ายมาสร้างในหนองจอกคือ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยการก่อสร้างยึดตามแบบเดิมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาไว้ แต่จะไม่มีศูนย์ฝึกทางน้ำ ซึ่งจะมีการสร้างศูนย์ฝึกทางน้ำที่สามเสนทดแทน บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการฝึก เมื่อเกิดเหตุก็สามารถใช้ทรัพยากรและบุคลากรได้สะดวกกว่า ซึ่งน่าจะมีการของบประมาณ ปี 2569 ต่อไป แต่การก่อสร้างที่หนองจอกจะเพิ่มสถานีฝึก O (โอ) ต่างจากที่ จ.นครปฐม ซึ่งเป็นอาคารจำลองการค้นหาผู้ประสบภัยตึกถล่ม ความคืบหน้าโครงการปัจจุบันมีการออกแบบทั้งหมดแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลาง คาดว่าจะหาผู้รับจ้างได้ทันปีงบประมาณนี้

สำหรับโครงการศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร (หนองจอก) ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ระหว่างปี 2568-2570 ด้วยงบประมาณ 1,338,000,000 บาท แบ่งเป็น ปี 2568 จำนวน 2,000,000 บาท ปี 2569 จำนวน 668,000,000 บาท ปี 2570 จำนวน 668,000,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารต่าง ๆ  ประกอบด้วย 1.อาคารอำนวยการ 2.อาคารปฏิบัติการและส่งเสริมสมรรถภาพทางร่างกาย 3.อาคารพักผู้ฝึกอบรม 4.อาคารจอดรถดับเพลิง 5.อาคารคลังวัสดุ 6.อาคารบริการ/สาธารณูปโภค 7.อาคารบรรยายสรุปภาคสนาม 8.สถานีแยกน้ำกับสิ่งปฏิกูล 9.อาคารสถานีเก็บและจ่ายแก๊ส LPG (ก๊าซ) 10.อาคารสถานีเก็บและจ่ายแก๊ส LPG (ก๊าซและของเหลว) 11.อาคารสถานีเก็บและจ่ายเพลิงน้ำมันก๊าด 12.อาคารที่เก็บขยะ

นอกจากนี้ ยังมีสถานีฝึกต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.สถานีฝึก A สถานีฝึกดับเพลิงอาคารสูง 2.สถานีฝึก B สถานีฝึกดับเพลิงไฟไหม้ในอาคารพาณิชย์ 3.สถานีฝึก C สถานีฝึกดับเพลิงไฟไหม้โรงงานขนาดเล็ก 4.สถานีฝึก D สถานีฝึกดับเพลิงไฟไหม้บ้านพักอาศัย 5.สถานีฝึก G สถานีฝึกดับเพลิงไหม้ในพฤติกรรมต่าง ๆ 6.สถานีฝึก H สถานีฝึกดับเพลิงไหม้ปิโตรเคมีและวัตถุของเหลวอันตราย 7.สถานีฝึก K สถานีฝึกจับสัตว์ 8.สถานีฝึก L,M,N กลุ่มสถานีฝึกกู้ภัยอุบัติเหตุด้านการขนส่งและจราจร 9.สถานีฝึก O (โอ) อาคารจำลองการค้นหาผู้ประสบภัยในอาคารและตึกถล่ม 10.อาคารพักบุคลากร วิทยากร และซ่อมบำรุง 11.อาคารเพาะชำ 12.อาคารหอเก็บน้ำ 13.งานครุภัณฑ์ 14.งานภูมิทัศน์ งานผังบริเวณ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่น ๆ