นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.ติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา ซึ่งสำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม. แนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ ในระหว่างพื้นที่ที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลอดผ่าน จะก่อสร้างปล่องรับน้ำและอาคารรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ให้ระบายลงสู่อุโมงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ได้แก่ อาคารรับน้ำบึงหนองบอน อาคารรับน้ำคลองหนองบอน อาคารรับน้ำคลองเคล็ด อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) อาคารรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลบ.ม./วินาที และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง ขณะนี้ผลงานก่อสร้างที่ทำได้ 31.54% ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ได้ให้สำนักการระบายน้ำและผู้รับจ้างหารือร่วมกันในการปรับแผนการทำงานเป็นระยะ รวมทั้งให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อโครงการ ที่ผ่านมาผู้รับจ้างได้ก่อสร้างปล่องรับน้ำบึงหนองบอน ปล่องรับน้ำคลองหนองบอน ปล่องรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1 ปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.2 (อุดมสุข 42) ปล่องรับน้ำคลองหลอด กม.3 (อุดมสุข 56) เสร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม พื้นที่ก่อสร้างอาคารรับน้ำ 2 แห่ง คือ อาคารรับน้ำคลองเคล็ด และอาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 ไม่สามารถก่อสร้างตามรูปแบบในสัญญาได้ จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบก่อสร้างอาคารทั้ง 2 แห่ง เมื่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตร.กม. ในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตพระโขนง เขตบางนา และพื้นที่ใกล้เคียง