วันที่ 30 เมษายน  2568 เวลา 09.00 น.นายทัศนัย สุธาพจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วย นายศราวุธ เผ่าพยัฆ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช พร้อมด้วย นายอภิจิต ชวรัตน์เจริญกิจ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช และคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ลงพื้นที่ชมหมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช และร่วมชมการแสดงกลองยาว จากโรงเรียนเทศบาลวัดอัมพวัน อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง หลังจากชมการแสดงเสร็จแล้วร่วมประชุมหารือเพื่อพัฒนานิเวศการเรียนรู้ของเมือง (City Learning Ecology) ด้านงานหัตถกรรมพื้นบ้านกลองยาว ภายใต้โครงการวิจัย “การยกระดับและขับเคลื่อนจังหวัดอ่างทองสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ บนฐานทางมรดกวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์” ณ ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านทำกลองเอกราช และ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลเอกราช อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง

สำหรับตำบลเอกราช ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านได้ริเริ่มการผลิตกลองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 โดยไม้ที่ใช้ผลิตกลองตำบลเอกราช คือ ไม้ฉำฉา เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนที่สามารถขุดเนื้อไม้ได้ง่าย วัตถุดิบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ หนังวัว ที่ใช้สำหรับการขึงทำหน้ากลอง นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิธีการทำกลองตั้งแต่เริ่มกลึงท่อนไม้ ไปจนถึงขั้นตอนการขึ้นกลอง การฝังหมุด

กลองที่ผลิตขึ้นโดยชาวบ้านตำบลเอกราช มีหลายประเภทตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น กลองทัด กลองยาว กลองสั้น กลองรำวง ฯลฯ รวมทั้งกลองขนาดกะทัดรัดที่ผลิตขึ้นเป็นของที่ระลึก นอกจากนี้ บริเวณหมู่บ้านทำกลองยังมีกลองขนาดใหญ่มหึมา มีขนาดหน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ผลิตจากไม้จามจุรีต่อกัน 6 ท่อน ถือเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านทำกลองตำบลเอกราช นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมกลองขนาดมหึมาได้ที่บริเวณหน้าบ้านของกำนันหงส์ฟ้า หยดย้อย