“โสภณ” เผย แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กถูกยุบ แนะถ่ายโอนให้ท้องถิ่น มีความพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากรเพียงพอ จี้รัฐรีบนำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เข้าสภา เพื่อให้เกิดการศึกษาเท่าเทียมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างคุณภาพให้ผู้เรียน 
.
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.68 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายศักดิ์ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ นางสวีณา พลพืชน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร นายรังสรรค์ วรรณเสน ท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดเตรียมความทั้งด้านการบริหารจัดการบุคลากรทางการศึกษา การจัดการเรียนการสอน และความพร้อมของอาคารสถานที่ พร้อมต้อนรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2568 ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 นี้ ของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดกะทิง) ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ สังกัดเทศบาลเมืองลำปลายมาศ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์


.
พร้อมให้คำแนะนำทิศทางการพัฒนาการศึกษา นโยบายการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา หลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 (สพป.บุรีรัมย์ เขต 1) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ถ่ายโอนโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดกะทิง) ชื่อเดิมโรงเรียนวัดกะทิง ให้แก่เทศบาลเมืองลำปลายมาศ เมื่อวันที่ 25 มี.ค.68 โดยมี พันจ่าโท ทวี พิมพ์อุบล นายอำเภอลำปลายมาศ น.ส.มารศรี เค้าไธสง ปลัดเทศบาลเมืองลำปลายมาศ คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองและนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ
.
สำหรับโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดกะทิง) เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดทำการเรียนการสอน 2 ระดับคือ ระดับปฐมวัย และระดับปฐมศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีเด็กนักเรียน 26 คน และมีครูผู้สอน 2 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนจำเป็นต้องนำเรียนมาเรียนรวมกัน และกำลังจะถูกยุบรวมโรงเรียน ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง หากยุบโรงเรียนวัดกะทิง จะต้องนำเด็กนักเรียนไปเรียนที่โรงเรียนในเขตตัวอำเภอลำปลายมาศ 
.
ต่อมาคณะครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกับ สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 และเทศบาลเมืองลำปลายมาศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครู และไม่ให้โรงเรียนถูกยุบ จึงได้ทำเรื่องโอนย้ายให้โรงเรียนวัดกะทิง ให้แก่เทศบาลเมืองลำปลายมาศ สังกัดหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 25 มี.ค.68 ซึ่งเทศบาลเมืองลำปลายมาศ ได้แก้ปัญหาดังกล่าวเบื้องต้นโดยการปรับปรุงเพิ่มกรอบอัตรากำลังในสายงานบริหารการศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดกะทิง) มีผู้อำนวยการ 1 อัตรา มีครูผู้สอน 5 อัตรา และคาดว่าในปีการศึกษา 2569 จะสามารถจัดสรรบุคลากรทางการศึกษาได้ครบทุกตำแหน่ง จึงทำให้บรรดาผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในการบริหารจัดการศึกษา จึงได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเพิ่มจาก 26 คน เป็น 67 คน อีกทั้งยังได้มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของอาคารสถานที่โดยรอบใหม่ มีการซ่อมแซมอาคารเรียนไม้เดิมให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมเหมาแก่การจัดการเรียนการสอนและเกิดความปลอดภัยแก่ผู้เรียน โดยการปรับปรุงห้องเรียนให้มีความสะอาด สวยงาม มีการติดแอร์กับพัดลมทุกห้องเรียน และมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยทุกห้องเรียนด้วย
.
นายโสภณ กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ความสนใจและอยากเข้ามาแก้ไขปัญหาแก่โรงเรียน เพราะจากเดิมที่โรงเรียนมี่ครูเพียง 2 คน มีเด็กนักเรียน 26 คน ทางหน่วยงานราชการก็ไม่ให้อัตรากำลังเพิ่มทั้งผู้บริหาร และครูผู้สอน รวมถึงงบประมาณที่เพียงพอต่อการเรียนการสอน จึงต้องอยู่กันตามมีตามเกิด และส่อจะถูกยุบโรงเรียนด้วย จึงได้แก้ไขปัญหาโดยการถ่ายโอนย้ายจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มาเป็นโรงเรียนในสังกัดเทศบาลฯ ทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในศักยภาพของโรงเรียน ทั้งมีครูผู้สอนที่พร้อม อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนที่พร้อม อาคารห้องเรียนที่ดี เพราะมีทั้งแอร์และพัดลม ผู้ปกครองจึงส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเพิ่มจาก 26 คน เป็น 67 คน 
.
นายโสภณกล่าวอีกว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบ ส่วนหนึ่งต้องบูรณาการร่วมกันทั้งส่วนราชการ ภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานท้องถิ่นต้องมีส่วนในการที่จะดูแลร่วมกัประชาชน และรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่านี้ ถ้าอย่างนั้นโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศจำนวน 15,000 กว่าโรงเรียนก็รอเวลาถูกยุบทิ้ง  
.
"การสร้างคนมันไม่เหมือนสร้างถนน สร้างถนนมันต่อไปมันก็เป็นถนน มันก็เป็นเส้นทางของมันอยู่ แต่สร้างคนมันขาดตอนไม่ได้ วันนี้ถ้าเด็ก 26 คนถ้าเราไม่ได้รับการดูแลเยียวยาอย่างที่เห็นเด็ก 26 คนก็เป็นเด็กไม่มีคุณภาพ จึงอยากเห็นโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการพัฒนา มีผู้บริหารสถานศึกษามีครูตามสมควร แล้วก็ผ่องถ่ายภารกิจบางเรื่องให้หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับดูแลอยู่บางท้องถิ่นเขามีความพร้อม มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ แต่ยังติดอยู่ที่กฎหมายที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่นที่เขามีความพร้อมให้เขาได้จัดการดูแลลูกหลานเขา" นายโสภณ กล่าว
.
นายโสภณ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.การศึกษาฉบับที่ตนกำลังเสนอต่อสภาที่รอการพิจารณาฉบับนี้เขาเปิดโอกาส ซึ่งอุปสรรคส่วนหนึ่งคือการที่เรายังไม่ยอมแก้กฎหมาย ปัญหามันง่ายนิดเดียว แต่ก็ไม่รู้เขาว่าทำไมถึงยังไม่ยอมแก้กฎหมายตัวนี้ ตนเองก็ไม่มีอำนาจอะไรมาก ก็ได้แต่เรียกร้องว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ว่าฉบับไหนต้องเอาเข้าสู่สภาโดยด่วน การศึกษาในยุคนี้อยู่ในยุคสุญญากาศ เพราะว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาตินี้ เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญปี 60 บังคับให้ทำจากปี 60 จนมาถึง 68 แล้วยังไม่ได้แก้ ซึ่งปัญหาอยู่ตรงนี้ แลถ้าไม่แก้กฎหมายจะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ขอเชิญชวนท้องถิ่น โรงเรียน และทุกภาคส่วน มาพูดคุยหารือกันว่าสิ่งไหนพอจะถ่ายโอนให้ท้องถิ่นมาดูแล เพื่อลดภาระครู จะได้เป็นครูผู้สอนอย่างเต็มที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ครูผู้สอน และผู้เรียน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง