ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งไม่นาน สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีหน้าที่หลักในการประเมินคุณภาพสถานศึกษาทุกระดับชั้น สร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ว่าอย่างน้อยการศึกษาของไทยต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน ตลอดจนไม่ด้อยคุณภาพลง
ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 25 ปี ที่ สมศ. ดำเนินงานมาต่อเนื่อง ผ่านการปรับปรุงพัฒนาไปตามยุคสมัย เช่น จากที่เคยใช้เอกสารจำนวนมาก ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ลดการใช้กระดาษลง หันมาใช้ระบบแพลตฟอร์ม การให้ข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะการมุ่งพัฒนาระบบ Dashboard Presentation ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว ให้สามารถนำเสนอข้อมูลคุณภาพการศึกษาแบบ Real-time เข้าใจง่ายและใช้ในการสื่อสารเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้นวัตกรรมด้านฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อประเมินผลและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย อาศัยวงจร PDCA (Plan-Do-CheckAct) ในการขับเคลื่อนการพัฒนา และวางรากฐานวัฒนธรรมคุณภาพในสถานศึกษาทุกระดับ
ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ผู้ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ที่ 3/2568 ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สมศ. ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.68 กล่าวถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะดำเนินการภายในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ว่า เรื่องใหม่ที่จะขับเคลื่อนในวันนี้คือ การเดินหน้าประสานความร่วมมือ โดยประชุมร่วมกับผู้บริหารทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ IQA (Internal Quality Assurance) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน และ EQA (External Quality Assurance) การประเมินคุณภาพ ติดตามตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาและการปฏิบัติงาน เนื่องจากที่ผ่านมาอาจยังไม่เชื่อมโยงกันมากนัก แต่ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ต้องสื่อสารกัน เช่น การส่งรายงานประเมินตนเองตามบทบาทหน้าที่ในแต่ละปีของสถานศึกษา (SAR) จากสถานศึกษาต้นสังกัดมายัง สมศ. ซึ่งแต่เดิมมีความยุ่งยากในการส่ง แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีรองรับ สามารถส่งเป็นไฟล์ข้อมูลได้โดยสะดวก
ตามหลักการ เมื่อ สมศ. ประเมินแล้ว สถานศึกษาจะต้องนำผลประเมินไปทำแผนพัฒนาการศึกษาระยะ 5 ปี แต่ที่ผ่านมา อาจไม่มีการนำผลประเมินไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ปัจจุบัน สมศ.จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้สถานศึกษานำผลประเมินไปวางแผนระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาให้เด็กอ่านออกเขียนได้ โดยนำแผน 5 ปี มาแยกย่อยเป็นแผนรายปี เพื่อมอบแผนรายปีให้หน่วยงาน IQA ดูแล ระหว่างนั้นหน่วยงาน EQA อย่าง สมศ.จะมีการแนะนำและทำงานควบคู่กันไปเป็นระยะ เช่น กระตุ้นเตือนให้สถานศึกษาเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นหลักฐานตลอดระยะ 5 ปี เพื่อป้องกันปัญหา เช่น เมื่อครบ 5 ปีแล้ว สถานศึกษาเก็บข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ไม่ทัน ดังนั้น ทั้งหน่วยงาน IQA และ EQA ต้องทำงานคู่ขนาน เพื่อผลักดันและพัฒนาสถานศึกษาร่วมกัน
ศ.ดร.องอาจ มองว่า ที่ผ่านมา สาเหตุที่ทั้งสองหน่วยงานไม่ได้ทำงานร่วมกันมากนัก อาจมาจากความเข้าใจว่าหน่วยงาน EQA ไม่ได้มีหน้าที่ไปกระตุ้นสถานศึกษา โดยมองว่าผู้ประเมินภายนอกต้องวางตัวเป็นกลาง เช่น เมื่อประเมินเสร็จแล้วก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่อธิบายที่มาที่ไปของผลประเมิน แต่ความเป็นจริงสามารถแนะนำเรื่องคุณภาพที่ถูกต้องได้ โดยแนะนำผ่านผู้ประเมินภายใน (IQA) เพื่อให้ผู้ประเมินภายในรับช่วงต่อไปปรับปรุงคุณภาพในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
"เป้าหมายสำคัญคือจะมีการประชุมร่วมกับต้นสังกัด ทำเวิร์คช็อปร่วมกัน ในการพัฒนา IQA ให้เชื่อมสัมพันธ์กับ EQA มากขึ้น โดยเฉพาะการประชุมเรื่องการนำผลประเมินจาก EQA ไปพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งนำแผนพัฒนาสถานศึกษาจาก 5 ปี มาซอยเป็นแผนรายปี เพื่อให้ IQA ซึ่งประกอบไปด้วย อาจารย์ ศึกษานิเทศก์ ผู้บริหาร ประเมินเป็นรายปี ระหว่างนั้น สมศ.อาจมีการไปเยี่ยมสถานศึกษา เพื่อรับช่วงที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน ดังนั้น ผู้ประเมินภายนอกไม่ใช่นักประเมินอย่างเดียว ต้องเป็นผู้ส่งเสริม ขับเคลื่อน เป็นเหมือนโค้ช เพื่อจะแปลงการประเมินภายนอกไปบรรจุเป็นแผนพัฒนาสถานศึกษา แล้วมอบแผนให้สถานศึกษาและผู้ประเมินภายในดำเนินการต่อไป"
ในด้านบุคลากร ผู้ประเมินภายนอกเป็นหัวใจสำคัญ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประเมินสะดวกขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น การทดสอบวัดความรู้ความเข้าใจ โดยผู้ประเมินทุกคนสามารถทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ไม่ต้องเดินทาง จากนั้น สมศ.อาจคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5-10 อันดับแรกมาเข้าอบรมต่อไป โดยปัจจุบันผู้ประเมินภายนอกต้องมีคุณสมบัติในการให้คำปรึกษา สนับสนุน ไม่ตัดสินอย่างเดียว ต้องมีการแนะนำสถานศึกษาในสิ่งที่เป็นไปได้ตามศักยภาพที่มี เช่น โรงเรียนมีครู 2 คน มีนักเรียนน้อย การแนะนำให้จ้างครูเพิ่มเป็นเรื่องยาก อาจแนะนำให้ใช้สื่อออนไลน์หรือสื่ออื่นมาช่วยเสริมการสอนทดแทน เป็นต้น สิ่งสำคัญคือ เสนอสิ่งที่เป็นไปได้ตามทรัพยากรที่สถานศึกษามี
นอกจากนี้ สถานศึกษาที่มีความพร้อมอยู่แล้วอาจใช้การตรวจทานข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์แทนการลงพื้นที่ แต่สถานศึกษาต้องร่วมให้ข้อมูล เพื่อตรวจทานความถูกต้องตามรายงานที่สถานศึกษาส่งมา ส่วนสถานศึกษาที่ไม่พร้อมยังต้องลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ ในฐานะกัลยาณมิตร เป้าหมายสำคัญของ สมศ.ต่อจากนี้ คือการพัฒนากรอบการชี้วัด โดยอาศัยข้อมูล และการวิจัย ไม่ใช้ความรู้สึก
“4 ปีต่อจากนี้สิ่งที่เราอยากเห็นก็คือ เป็นองค์การมหาชน ที่ใช้การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านการประเมินและการประกันคุณภาพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทยทุกระดับทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมามีคนถามว่า สมศ. ตั้งมา 25 ปีตกลงการศึกษาดีขึ้นหรือไม่ เป็นคำถามที่พูดกันตลอดมา ถ้าไม่มีเราเราก็ไม่รู้ แต่เรามีอยู่เหมือนกับนานาอารยประเทศ มีไว้เพื่อให้รู้ว่า ตกลงแล้วสถานศึกษาที่มีอยู่ได้จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ นี่คือพันธกิจหลักของ สมศ.” ศ.ดร.องอาจ กล่าวทิ้งท้าย