"นักวิชาการธรรมศาสตร์" หนุน อส. นำระบบ E-Ticket มาใช้กับอุทยานแห่งชาติ 1 ต.ค. 68 นี้ แนะให้ใช้ระบบสแกนใบหน้า ป้องกันนักท่องเที่ยวสวมสิทธิ ช่วยบริหารเงินงบประมาณ 2,200 ล้านโปร่งใส
ภายหลัง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เปิดแถลงข่าวเรื่องการบริหารจัดการและการใช้จ่ายเงินอุทยานแห่งชาติ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 เม.ย. 2568 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งมีการระบุว่า จะนำระบบ E-National Park ซึ่งมีฟังก์ชันของการจำหน่ายตั๋วผ่านระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความโปร่งใสในการจัดเก็บรายได้ค่าเข้าให้ครบทุกอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของนักวิชาการธรรมศาสตร์ก่อนหน้านี้
รศ. ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในฐานะอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งได้เสนอให้มีการนำระบบ E-Ticket กลับมาใช้อย่างจริงจังและปรับปรุงในส่วนที่เป็นข้อจำกัดของระบบ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติฯ ที่ในปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่ามากถึงราว 2,200ล้านบาท ได้แสดงความคิดเห็นอีกครั้ง
รศ. ดร.สุรศักดิ์ เปิดเผยว่า อธิบดีและคณะผู้บริหาร อส. ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของหน่วยงานราชการที่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบข้อสงสัยของสังคมผ่านสื่อมวลชนอย่างชัดเจนและเป็นทางการ ไม่ปล่อยให้สังคมเกิดข้อครหา และวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ซึ่งนอกจากการชี้แจงปมข้อสงสัยแล้วยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการและสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตอย่างชัดเจน การแถลงข่าวนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการติดตามสิ่งที่หน่วยงานได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ด้วย ส่วนตัวจึงขอให้กำลังใจในการทำงานเพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานและการบริหารรายได้
อย่างไรก็ตาม ตามที่ อส. ได้ให้เหตุผลในการระงับการใช้ระบบ E-Ticket ในช่วงเวลาที่ผ่านมาว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้มีใช้งานระบบน้อย เพราะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติยังคงนิยมการซื้อตั๋วผ่านทางอุทยานโดยตรงมากกว่า อีกทั้งยังเกิดปัญหาการสวมสิทธิในการเข้าอุทยานแห่งชาติโดยชำระค่าธรรมเนียมค่าเข้าในอัตราคนไทยแต่ผู้ที่เข้าไปคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมไปถึงกรณีที่เกิดการซื้อตั๋วในระบบ E-Ticket น้อยกว่าและไม่ตรงตามจำนวนคนที่เข้าไปใช้บริการจริง ส่วนตัวจึงสนับสนุนแนวคิดของ อส. และควรเร่งนำระบบสแกนใบหน้า หรือการยืนยันตัวตน (authentication) ซึ่งเป็นกระบวนการยืนยันอัตลักษณ์ของบุคคลเข้ามาใช้ควบคู่กับการซื้อตั๋วเข้าชมอุทยานแห่งชาติฯ ผ่านระบ E-Ticket ด้วย ซึ่งการดำเนินการนี้ จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและง่ายต่อการตรวจสอบจำนวนนักท่องเที่ยวที่แท้จริง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ. ดร.สุรศักดิ์ กล่าวต่อไปด้วยว่า หากมีการนำระบบ E-Ticket มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทุกอุทยานแห่งชาติฯ ทั่วทั้งประเทศได้จริง จะก่อให้เกิดความน่าเชื่อและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ต่อเงินรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานฯ อีกทั้งเม็ดเงินจำนวนมหาศาลซึ่งถือเป็นเงินขาเข้าอุทยานฯ นี้ เป็นสิ่งที่อส.สามารถนำมาบริหารจัดการได้เอง โดยไม่ต้องส่งคืนคลัง ดังนั้น หากนำระบบ E-Ticket และระบบยืนยันอัตลักษณ์บุคคลมาใช้อย่างจริงจัง ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาการทุจริตจะลดลง และเงินงบประมาณส่วนนี้จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่จะเสนอต่อไปคือ อส. ควรบริหารเงินขาออกให้เกิดความโปร่งใส โดยการสร้างกลไกให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามารับรู้การใช้จ่ายเงินรายได้ ตลอดจนตรวจสอบ ติดตาม การใช้งบประมาณ หน่วยงานควรจะรายงานและแสดงตัวเลขออกมาให้ประชาชนทราบเป็นระยะๆซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการบริหารเงินงบประมาณทั้งขาเข้าและขาออกให้เกิดความโปร่งใสได้ จะทำให้เงินที่สนับสนุนคนทำงานเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลให้เกิดกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และข้าราชการน้ำดี เพื่อการปฏิบัติอย่างเต็มกำลังมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำงบไปจัดซื้อโดรนบินสำรวจ เพื่อผ่อนแรงเจ้าหน้าที่และลดการใช้งบประมาณในการออกหน่วยลาดตระเวน สำหรับตรวจตราผู้กระทำผิดกฎหมาย และเป็นการระงับหรือป้องกันไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมาย (crime prevention)
“มากไปกว่านั้น งบประมาณที่เพิ่มขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังสามารถนำไปอุดหนุนองค์กรภาคประชาชน หรือหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เคียงคู่และขนานไปกับการทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้อีกด้วย” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว สรุปในตอนท้าย