วันที่ 29 เม.ย.68 เวลา 05.00 น.ผู้ส่อข่าวรายงาน ว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 โดย พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภาค 9 ได้เปิดปฏิบัติการเชิงรุกพร้อมกันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นเป้าหมายเพื่อจับกุมผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบตามข้อมูลจากพยานหลักและการขยายผล จากแหล่งข่าวเชิงลึก และจากการสอบสวนผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาก่อนหน้านี้
โดยการปฏิบัติครั้งนี้ทางหน่วยงานความมั่นคงได้มีการจัดกำลังหน่วยปฏิบัติการร่วมในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ร่วม 12 เป้าหมายให้มีจัดกำลังร่วมกัน 3 ฝ่ายออกปฏิบัติการณ์ตามเป้าหมายที่วางไว้พร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งผลการปฏิบัติครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด และสามารถควบคุมตัว สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ จำนวน 7 ราย ดังนี้ จังหวัดปัตตานี 3 ราย จังหวัดนราธิวาส 2 ราย และจังหวัดยะลา 2 ราย
ซึ่งที่จังหวัดปัตตานี กำหนดปฏิบัติการณ์ 4 เป้าหมายและสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 3 ราย สอบสวนทราบขื่อ 1.นายมูฮำหมัดฮาซัน (ขอสงวนนามสกุล) โดยควบคุมตัวได้ในพื้นที่ อ.หนองจิก 2. นายสุกิฟลี (ขอสงวนนามสกุล) ถูกควบคุมได้ที่ อ.โคกโพธิ์ 3. นายสาบุดิน (ขอสงวนนามสกุล) ควบคุมตัวได้ที่ อ.โคกโพธิ์ ส่วนเป้าหมายที่ 4 ไม่พบตัว โดยทั้ง 3 คนที่ถูกคุมตัวเป็นชุดที่คอยสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่
ขณะที่พื้นที่จังหวัดนราธิวาส ผลการปฏิบัติปิดล้อมตรวจค้นสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 2 ราย ทราบชื่อ 1. นายซูลอีมาน (ขอสงวนนามสกุล) สามารถควบคุมตัวได้ในพื้นที่ อ. สุไหงปาดี ซึ่งเป็นการขยายผลเหตุระเบิด จนท.ทพ.4808 พื้นที่ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี เหตุเกิดเมื่อ 18 ค.ค. 67 ซึ่งจากการตรวจค้นได้ตรวจยึดสิ่งของซึ่งตรงกับข้อมูลการตรวจสอบกล้องวงจรปิดวันเกิดเหตุและอื่นๆ จำนวน 4 รายการ ประกอบด้วย รถ.จยย.ยี่ห้อฮอนด้า รุ่น PCX สีขาว ทะเบียน 7 ขญ 6783 กทม.เสื้อแขนสั้นสีกรมท่า,กางเกงขายาวสีเทา,รองเท้าแตะแบบสวม สีครีม และ 2. นายอัฟนัน (ขอสงวนนามสกุล) ควบคุมได้ในพื้นที่ อ.รือเสาะ
ส่วนที่ จ.ยะลา สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยตามพยานหลักฐานได้ จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย 1. นายอดินันต์ (ขอสงวนนามสกุล) ควบคุมตัวได้ในพื้นที่ อ.เมือง และ 2. นายอัฟฟาน (ขอสงวนนามสกุล) ควบคุมตัวได้ในพื้นที่ อ.เมือง
ด้าน พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า การเปิดแผนปฏิบัติการเชิงรุกครั้งนี้สืบเนื่องจาก ข้อมูลเชิงลึกและ การขยายผลที่นำไปสู่ การจับกุมและควบคุมตัว ทางนี้จากที่ผ่านมาในพื้นที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสนธิกำลังในการระดมปฏิบัติการเพื่อปิดช่องว่างและสกัดกั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความพยายามที่จะก่อเหตุสร้างความวุ่นวาย ในห้วงที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้ความสำคัญด้านการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมพื้นที่เป็นการดูแลพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเป็นการติดตามจับกุมกลุ่มผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรงที่อยู่ในกลุ่มขบวนการ ผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อยู่ในหมายจับ โดยเน้นย้ำส่วนที่เกี่ยวข้องในการจับกุมแต่ละครั้งให้ใช้ความระมัดระวังและหากต้องเผชิญเหตุก็ให้ใช้กำลังการปฏิบัติจากน้อยไปหาหนัก ประสานผู้นำท้องที่ท้องถิ่นให้ช่วยเจรจาและสำคัญคือเรื่องของความปลอดภัยทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชน
โดย แม่ทัพภาคที่ 4 เผยถึงเรื่องกำหนดพื้นที่ความปลอดภัยว่า ได้มีแผนเสริมสร้างสันติสุขในการรักษาความปลอดภัยทั้งสาธารณูปโภคแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ แต่ในห้วงที่เกิดเหตุการณ์มากขึ้น ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีแผนพิทักษ์กำลังพล เนื่องจากที่ผ่านมาเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ซึ่งแผนพิทักษ์กำลังพลเป็นการรักษาความปลอดภัย แบ่งเป็น 2 ห้วง คือ ห้วงการปฏิบัติหน้าที่ และห้วงการลาพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ จึงมีมาตรการทั้ง 2 ส่วน ในส่วนของการปฏิบัติหน้าที่หลัก ๆ จะดำเนินการ รปภ. พื้นที่ ส่วนการลาพักเป็น 3 มาตรการ คือ มาตราการ การรักษาความปลอดภัยด้วยตนเอง มาตรการ การรักษาความปลอดภัยด้วยชุมชน มีผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นที่คอยช่วยเหลือดูแลแจ้งข่าวสารเพราะบุคคลเหล่านี้ เป็นกำลังพลในชุมชน และมาตรการที่ 3 การรักษาความปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่ในแต่ละฐานก็จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง และทหาร บางครั้งกำลังพลอยู่ในพื้นที่จริงแต่ไปทำงานที่หน่วยอื่น เมื่อกลับมาก็ต้องมีการประสานกับหน่วยที่ดูแลพื้นที่ ทั้งการแจ้งข่าวสาร การดูแลเป็นพิเศษ แม้แต่เรื่องการแจ้งเตือนต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาสถานที่ล่อแหลมต่าง ๆ เพื่อหาวิธีที่ปลอดภัยที่สุด