วันที่ 29 เม.ย.68  นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า จากข้อมูลปีงบประมาณ 2567 พบว่า มูลค่าการใช้ยาแผนปัจจุบันในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐรวมทั้งสิ้น 70,543 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นยาสมุนไพร 1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21% จากข้อมูลดังกล่าว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทยก่อนไปหาหมอ” กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้น โดยสนับสนุนให้แพทย์และเภสัชกรจ่ายยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นใน 10 กลุ่มโรคที่พบบ่อย เป็นยาสมุนไพร 32 รายการ ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่ใช้บ่อย มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรใน 10 กลุ่มโรคข้างต้น (CPG) เพื่อใช้ยาสมุนไพรอย่างถูกต้องและปลอดภัย

การส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน เป็นการดำเนินการตามความสมัครใจของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ใช่นโยบายบังคับแต่อย่างใด โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกยาสมุนไพรอย่างรอบคอบผ่านคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) ของแต่ละโรงพยาบาล สำหรับยาสมุนไพรที่นำมาใช้ทดแทน ได้แก่ ยาครีมไพล ใช้แทนยานวด กลุ่ม Analgesic balm สำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ยาแก้ไอมะขามป้อม หรือ ยาประสะมะแว้ง ใช้ทดแทนยาแก้ไอ M.tussis เพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และยามะขามแขก ใช้ทดแทนยาระบาย บิซาโคดิล (Bisacodyl) สำหรับอาการท้องผูก แต่ยังมียาแผนปัจจุบันตัวอื่น สามารถเลือกใช้แทนยาแผนปัจจุบันที่ถูกคัดออกจากโรงพยาบาลได้ เช่น ยา diclofenac gel ในกลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ยา Ambroxol หรือ Bromhexine ในกลุ่มยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ยา lactulose หรือ Milk of Magnesia ในกลุ่มยาระบาย ซึ่งไม่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วยของแพทย์แผนปัจจุบันที่ไม่ประสงค์ใช้ยาสมุนไพร

นอกจากนี้ มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างแพทย์ปัจจุบันและแพทย์แผนไทย โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ดำเนินการศึกษา วิจัย ร่วมกับ กรมการแพทย์ และราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย เพื่อคัดเลือกยาสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละกลุ่มอาการโรคเพิ่มเติมจาก 10 กลุ่มอาการเดิมในการสร้างข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพร

นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเชิญชวนบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน หันมาใช้ยาสมุนไพร เพื่อสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสมุนไพรของประเทศทั้งระบบ