“สุดาวรรณ” รมว.วัฒนธรรมลงพื้นที่ครม.สัญจรนครพนม เดินหน้าผลักดัน “พระธาตุพนม” สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมชุมชนบ้านนาถ่อน ต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถี ติดตามปรับปรุงหอสมุดแห่งชาตินครพนม
28 เม.ย. 68 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดนครพนมในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมลงพื้นที่ ในการนี้คณะถวายเครื่องสักการะพระธาตุพนมและแห่ผ้าห่มพระธาตุ จากนั้นพบปะผู้แทนส่วนราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชน เยี่ยมชมนิทรรศการตำนานอุรังคธาตุ นิทรรศการประเพณีบุญเดือน 3 นิทรรศการผ้าเกาะโส้ นิทรรศการเส้นทางท่องเที่ยวสักการะพระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ เป็นต้น
รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ขับเคลื่อนวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นการอนุรักษ์โบราณสถาน ทั้งนี้พระธาตุพนมได้การรับบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ศูนย์มรดกโลก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 เพื่อนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จะต้องจัดทำผังแม่บทที่ครอบคลุมพื้นที่หลักของวัดพระธาตุพนมและพื้นที่กันชน (Buffer Zone) โดยรอบเพื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ดังนั้นได้หารือผู้เกี่ยวข้องในการสนับสนุนโครงการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังแม่บทพื้นที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารและบริเวณโดยรอบเพื่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม และโครงการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเสนอขึ้นทะเบียนพระธาตุพนมเป็นมรดโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก รวมถึงการขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงานให้คำปรึกษาในการดำเนินการขับเคลื่อนพระธาตุพนมให้ได้รับการพิจารณาเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
สำหรับองค์พระธาตุพนมเป็นปูชนียสถานที่สำคัญ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 พระธาตุพนม ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงตามความเชื่อพื้นถิ่นเชื่อว่าสร้างโดยพระมหากัสสปะพระอัครสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังจากปรินิพพาน เป็นพระธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้รับการบูรณะและสักการบูชาจากประชาชนหลากหลายเชื้อชาติตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีจึงถือเป็นศาสนสถานที่มีคุณค่าโดดเด่นและเป็นสากล
ในส่วนการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก “พระธาตุพนม” มีคุณสมบัติในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกใน 3 เกณฑ์ ได้แก่ เกณฑ์ที่ 2 เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เกณฑ์ 3 เป็นหลักฐานที่เป็นเอกลักษณ์หรืออย่างน้อยก็โดดเด่นถึงประเพณีทางวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ยังคงอยู่หรือที่สูญหายไป และเกณฑ์ที่ 6 มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้รมว.วัฒนธรรมได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านนาถ่อน เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบเที่ยวชุมชนยลวิถีระดับประเทศ พัฒนาต่อยอด สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้บ้านนาถ่อนเป็นชุมชนชาวไทยกวนที่อนุรักษ์สืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีเก่าแก่มายาวนาน มีภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การตีเหล็ก ทอผ้าและย้อมสี งานจักสาน ทำพานบายศรีขันหมากเบง การต้มเกลือสินเธาว์และเกลือสปา และยังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยกวนเป็น 1 ใน 9 ชนเผ่าของจังหวัดนครพนม ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนไว้อย่างดี ใช้ภาษาไทกวนเป็นภาษาถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชุมชนบ้านนาถ่อน คือวัดศรีมงคล วัดแก้วเสด็จ และวัดโพธิ์ลานช้าง มีใบเสมาโบราณอายุนับพันปีอายุช่วงเดียวกับองค์พระธาตุพนม
จากนั้นรมว.วัฒนธรรมได้ตรวจเยี่ยมแนวทางการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่บางส่วนมีสภาพชำรุด ดังนั้นจึงจัดทำโครงการพัฒนาและปรับปรุงหอสมุด ทั้งภายในและนอกตัวอาคาร ภูมิทัศน์ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี สะดวก ปลอดภัย ร่มรื่นเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น และใช้บริการเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าตามอัธยาศัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับหอสมุดแห่งชาติฯ ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครพนม จ.นครพนม เป็นอาคารศาลากลางจังหวัดนครพนมหลังเก่า 2 ชั้นครึ่งก่ออิฐถือปูนไม่มีการเสริมเหล็ก ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป สไตล์โคโลเนียล โครงสร้างภายในอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี 2485 สมัยพระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรภ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะซ่อมแซมและใช้เป็นที่ทำการหอสมุดแห่งชาติฯ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดเก็บรวบรวมและสงวนรักษามรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติทุกประเภทที่ปรากฏในรูปหนังสือ สิ่งพิมพ์ เอกสารโบราณ หนังสือตัวเขียน หนังสือตัวพิมพ์ จารึกและสื่อโสตทัศน์ประเภทต่างๆ เพื่อให้บริการการศึกษาค้นคว้าและวิจัยแก่ประชาชนทั่วไปโดยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา