ไข่ไก่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีที่มีราคาย่อมเยาและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดของคนไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของราคาจึงเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าเข้าใจวัฏจักรปกติของการผลิตและราคาของไข่ไก่ รวมถึงการยืนยันว่าการปรับราคาครั้งนี้มีเหตุผลรองรับอย่างสมบูรณ์ เป็นสถานการณ์ชั่วคราว และไข่ไก่ยังมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ก็จะช่วยให้การบริโภคเป็นไปตามปกติและลดคำถามเรื่องราคา “ไข่ไก่ราคาแพง” ลงไปได้ 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับวัฏจักรการผลิตและราคาไข่ไก่ ว่า มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ คือ 

1.ผลกระทบจากสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นต่อเนื่องตาม 
“ภาวะโลกร้อน ส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะการให้ไข่ของแม่ไก่ ทำให้แม่ไก่ออกไข่น้อยลง อีกทั้งขนาดของไข่ที่ผลิตได้มีแนวโน้มเล็กลง และสัดส่วนไข่ขนาดเล็กที่ออกสู่ตลาดมีสูงถึงกว่า 60% ซึ่งไข่เบอร์เล็กนี้มีราคาขายต่ำกว่าเบอร์กลางและใหญ่ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุว่า ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันราคาไข่ไก่ในตลาด

2.การปลดไก่ยืนกรง (culling) ซึ่งเป็นนโยบายที่ภาครัฐนำมาใช้โดยขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อรักษาสมดุลการผลิต
และเสถียรภาพราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด ด้วยการลดไก่อายุสูงและรักษาประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ไข่ไก่ที่ออกสู่ตลาดไม่ล้นเกิน ปริมาณไข่จึงยังคงสมดุลกับความต้องการในประเทศ

3.ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าต้นทุนการเลี้ยงเพื่อจัดการกับภาวะอากาศร้อน (ค่าไฟฟ้า) เฉลี่ยที่ 3.40 
บาทต่อฟอง ตลอดจนต้นทุนวัตถุดิบอาหารแม้ที่ยังผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับราคาขายไข่ไก่ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สถานการณ์ผลผลิตและความต้องการในตลาด ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า ในเดือนเมษายนผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดประมาณ 44.5 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 43.3 ล้านฟองต่อวัน เห็นได้ว่าผลผลิตยังมีเพียงพอรองรับความต้องการโดยรวมได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเปิดเทอม ซึ่งความต้องการไข่ไก่จะสูงขึ้นตามธรรมชาติของตลาด จึงเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ราคามีการขยับตัวสูงขึ้นชั่วคราวตามกลไกตลาด

เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่คละอยู่ที่ประมาณ 3.80 บาทต่อฟอง จึงเห็นได้ว่าการปรับราคาในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของตลาด แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมีเหตุผล เกษตรกรจำเป็นต้องดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้มีไข่ไก่จำหน่ายอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้ว่าการปรับราคาไข่ไก่ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้เป็นผลจากวัฏจักรปกติของการผลิตและตลาด โดยมีปัจจัยธรรมชาติ ต้นทุนการผลิต และกลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สถานการณ์นี้เป็นเพียง “ภาวะชั่วคราว” ผู้บริโภคจึงไม่ควรวิตกกังวล เพราะไข่ไก่ยังคงมีเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งช่วงนี้หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตและราคาขายเกินกว่าที่กำหนดไว้ และเพื่อให้ไข่ไก่เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างต่อเนื่อง

โดย : ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ