สัปดาห์นี้ลานบ้านกลางเมือง "บูรพา โชติช่วง" นำเกร็ดความรู้เรื่อง "พระคเณศ เทพแห่งศิลปวิทยา" พร้อมภาพบางส่วนมาให้ชมอ่านกัน
หวังว่าไม่ช้าไปนัก มกราคมเดือนแรกของปี 2562 นำภาพพระคเณศมาเป็นสวัสดิมงคลการงาน
ภาพพระคเณศชุดนี้นำมาจากสมุดภาพปฏิทิน “พระคเณศ : เทพแห่งศิลปวิทยา” กรมศิลปากรจัดทำขึ้นปี 2562 ในเล่มให้เกร็ดความรู้ ส่วนพื้นที่ตรงนี้ขอนำมาร่ายสังเขปและภาพ
เชื่อว่าสังคมไทยรู้จักและได้รับนิยมนับถือพระคเณศในศาสนาฮินดู เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่รับศาสนาดังกล่าว พระคเณศในฐานะเทพแห่งความสำเร็จในการประกอบกิจพิธีมงคลต่างๆ จึงมีการบูชาพระคเณศเป็นเบื้องแรก
พระคเณศ เทพผู้มีรูปกายเป็นมนุษย์ มีเศียรเป็นช้าง สันนิษฐานว่าเดิมเป็นเทพพื้นเมืองอินเดีย มีกำเนิดจากลัทธิการบูชาสัตว์ ฯ ในทางคติความเชื่อ ตำนานปรัมปราของฮินดู ถือเป็นโอรสของพระศิวะ เทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกายกับพระนางปารวตี ทรงเป็นใหญ่ในหมู่คณะของพระศิวะ จึงเรียกว่า คณปติ พระศิวะประทานพรให้เป็นผู้ที่ได้รับการบูชาในการประกอบกิจพิธีต่างๆ ก่อนเทพองค์อื่น อาจบันดาลให้เกิดอุปสรรคหรือขจัดเสียซึ่งอุปสรรคได้นามว่า วิฆเนศวร หรือ วิฆนราชา ชาวฮินดูเมื่อจะประกอบพิธีทางศาสนา หรือเริ่มศึกษาเล่าเรียน จึงต้องบูชาพระคเณศก่อน จึงกลายเป็นเทพแห่งความรู้และความเฉลียวฉลาด เทพแห่งอักษรศาสตร์และวรรณคดี และเทพแห่งศิลปวิทยา
พระคเณศ เทพสำคัญในมิติหลากหลายของชาวฮินดูอินเดียแล้ว ยังเป็นเทพคุ้มครองประจำหมู่บ้าน และบ้านเรือน ที่ต้องมีรูปเทพองค์นี้ไว้สักการบูชา ประดิษฐานไว้ตามวัด หน้าประตูเมือง หรือป้อมประจำเมือง ศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย มีรูปพระคเณศประดิษฐานไว้ทางขวามือเสมอ หรือมีวิหารแยกออกไปต่างหาก ส่วนมากอยู่ทางทิศตะวันตก โดยนับถือว่าทรงเป็นเทพผู้พิทักษ์คุ้มครองป้องกันอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะในอินเดียภาคใต้ นับถือในฐานะเทพผู้พิทักษ์นามว่า นมัสเถตุ หมายถึง พิฆาตความชั่วร้าย อุททัณฑะ แปลว่า ผู้ลงทัณฑ์ผู้ชั่วร้าย ประโมทะ หมายถึง เจ้าแห่งบ้านเรือน
พระคเณศ ลักษณะทางประติมานวิทยา กายเป็นมนุษย์ พักตร์เป็นช้าง มีสัณฐานต่ำเตี้ย อุระใหญ่ อุทรป่อง ปกติมี 1 พักตร์ 2 เนตร หรือ 3 เนตร 4 กร 2 กรก็มี มีกายสีแดง พัตราภรณ์สีแดง ทรงกรัณฑมกุฏขนาดเล็กสำหรับเทพบริวาร หรือทรงชฏามกุฏ คือ ผมเกล้าของนักบวชมีงูพันรอบกายและบั้นพระองค์ มักแสดงปางประทานอภัย หรือปางประทานพร แสดงการปกป้อง ขจัดเสียซึ่งอุปสรรค และประทานความสำเร็จสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่มักถือไว้ในพระหัตถ์ ได้แก่ ขอช้าง บ่วงบาศ งาหัก และถ้วยขนมโมทกะ งวงของพระคเณศมักตวัดไปทางซ้ายและวางอยู่บนชามขนม ทรงหนูเป็นพาหนะนามว่า อาขุรถ หรือ มูษักวาหนะ รูปเคารพมีทั้งท่านั่ง ยืน และเต้นรำ
สำหรับคติการนับถือพระคเณศในสังคมไทย ได้แพร่กระจายมาสู่ดินแดนประเทศไทยเป็นเวลาช้านาน จากหลักฐานรูปเคารพในระยะแรกปรากฏขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 แสดงบทบาทฐานะของพระคเณศเชื่อมโยงกับคติแบบแผนประเพณีของอินเดียอย่างเด่นชัด แม้ว่าพระคเณศจะไม่ได้รับการนับถือเป็นเทพสูงสุดในดินแดนประเทศไทย ที่มีการรับนับถือศาสนาพุทธมาเป็นเวลาช้านานก็ตาม หากแต่พบหลักฐานรูปเคารพขนาดเล็กตลอดมา แสดงถึงความเป็นเทพสำคัญในการประกอบพิธีกรรมตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดูสืบมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ในกิจการมงคล หรือในการศึกษาศาสตร์ ศิลปะแขนงต่างๆ ช่างปั้น จิตรกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏศิลป์ อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม ฯ พระคเณศได้รับการบูชาก่อนเทพองค์อื่นๆ
พระคเณศจึงเป็นบรมครูแห่งศิลปวิทยาการ
ภาพซ้ายบน ทับหลังศิลาสลักภาพพระศิวะทรงสิงห์ เคียงข้างด้วยพระคเณศทรงช้าง ไม่พบที่อื่น และพระขันธกกุมาร (สกันทะ) ทรงนกยูง แสดงกลุ่มเทพในลัทธิไศวนิกาย ศิลปะเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ 16 – 17 พบที่ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
ภาพขวาบน ทับหลังสลักภาพศิวนาฏราช ในฐานะเทพแห่งการฟ้อนรำ มีพระคเณศเป็นเทพบริวาร เล่นดนตรีประกอบการฟ้อนรำ หินทราย ศิลปะเขมรในประเทศไทย พุทธศตวรรษที่ 17 ทับหลังด้านตะวันออกของปราสาทองค์กลาง ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ภาพซ้ายล่าง พระคเณศสี่กร ประทับบนฐานประดับหัวกะโหลก ทรงอาภรณ์และเครื่องประดับรูปหัวกะโหลก อาจหมายถึงคณปติ ผู้เป็นใหญ่เหนือภูต บริวารของพระศิวะ หินภูเขาไฟ ศิลปะชวาภาคตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 15 – 16 จากจันทิสิงหส่าหรี ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลฮอลันดา ณ เกาะชวา น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพขวาล่าง พระคเณศสี่กร ถืออักษมาลา (พวงประคำ), งาหัก, ขวานและตรีศูล, ถ้วยขนม ประทับนั่งงอพระชานุ ตะแคงฝ่าพระบาทเข้าหากัน หินเถ้าภูเขาไฟ ศิลปะชวาภาคตะวันออก พุทธศตวรรษที่ 19 เก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร