ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 6)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 – 15 มกราคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.72 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ รองลงมา ร้อยละ 39.04 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า และร้อยละ 1.24 ระบุว่า ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า อยากได้พรรคการเมืองพรรคใหม่ๆ ได้ให้เหตุผลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.06 ระบุว่า อยากเห็นคนใหม่ๆ นโยบายใหม่ๆ แนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 30.48 ระบุว่า อยากเห็น การเปลี่ยนแปลงใหม่ของประเทศไทย ร้อยละ 12.26 ระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า และร้อยละ 0.20 ไม่ระบุ ส่วนผู้ที่ระบุว่า อยากได้พรรคการเมืองพรรคเก่า ได้ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.42 ระบุว่า มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ รองลงมา ร้อยละ 31.05 ระบุว่า เคยเห็นผลงานมาแล้ว ร้อยละ 20.70 ระบุว่า ชอบการบริหารงานแบบเก่า ๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว ร้อยละ 7.07 ระบุว่า รู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี ร้อยละ 6.25 ระบุว่า มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่ และร้อยละ 0.51ไม่ระบุ
ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 26.20 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 22.40 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 3 ร้อยละ 11.56 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 4 ร้อยละ 9.60 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) อันดับ 5 ร้อยละ 7.32 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 7.28 ระบุว่าเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 3.28 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย (อดีตนายกรัฐมนตรี) อันดับ 8 ร้อยละ 2.32 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) อันดับ 9 ร้อยละ 1.20 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) และอันดับ 10 ร้อยละ 0.72 ระบุว่าเป็น นายวิษณุ เครืองาม (รองนายกรัฐมนตรี)
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 32.72 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 24.16 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 3 ร้อยละ 14.92 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.00 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 ร้อยละ 5.76 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 1.92 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา อันดับ 8 ร้อยละ 0.92 ระบุว่าเป็น พรรคไทยรักษาชาติ อันดับ 9 ร้อยละ 0.56 ระบุว่าเป็น พรรครวมพลังประชาชาติไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.52 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อชาติ ในสัดส่วนที่เท่ากัน
ส่วนปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.64 ระบุว่า เป็นบุคคลที่มีผลประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา ร้อยละ 36.20 ระบุว่า ชอบพรรค/นโยบายของพรรค ที่ผู้สมัครสังกัด ร้อยละ 13.28 ระบุว่า ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว (เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคน บ้านเดียวกัน เป็นต้น) ร้อยละ 6.76 ระบุว่า ต้องการได้ ส.ส. หน้าใหม่ ร้อยละ 1.40 ระบุว่า ต้องการได้นายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด ร้อยละ 1.12 ระบุว่า เป็นอดีต ส.ส. หรือ นักการเมืองในพื้นที่ หรือ เป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่ ร้อยละ 0.40 ระบุว่า ผู้สมัครสังกัดพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน ร้อยละ 0.12 ระบุว่า ผู้สมัครสังกัดพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ตนเองไม่ชอบ และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกคนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.80 ระบุว่า ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 21.96 ระบุว่า ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ร้อยละ 8.92 ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 4.80 ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ ร้อยละ 3.44 ระบุว่า ปัญหาการควบคุมราคาสินค้า ร้อยละ 2.16 ระบุว่า ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ร้อยละ 2.08 ระบุว่า ปัญหาการว่างงานและแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 1.56 ระบุว่า ปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค ร้อยละ 2.16 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาด้านการคมนาคม ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาด้านราคาน้ำมัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า การส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว และร้อยละ 0.12 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ด้านความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.88 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 32.28 ระบุว่า เชื่อมั่น ร้อยละ 9.80 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.04 ไม่ระบุ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ของประชาชน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.40 ระบุว่า ไปลงคะแนน รองลงมา ร้อยละ 1.08 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.52 ระบุว่า ไม่ไปลงคะแนน ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า จะไปลงคะแนน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.62 ระบุว่า ไปลงคะแนนในวันเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้า และร้อยละ 0.04 ระบุว่า ไม่แน่ใจ